เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.)/0064
วันที่: 15 มกราคม 2546
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(6)
ข้อหารือ: นาย ก. ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการขายอสังหาริมทรัพย์ รวม 2 รายการ ดังนี้
รายการที่ 1 การขายที่ดินซึ่ง นาย ก. ได้รับโอนจากบิดา นาย ก. เห็นว่า เป็นการโอน
โดยทางมรดก โดยชี้แจงเหตุในการโอนที่ดินของบิดามายัง นาย ก. ว่า บิดาของ นาย ก.ต้องการจะ
จดจำนองที่ดินดังกล่าวกับธนาคารเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ แต่ขณะนั้นบิดาอายุได้ 64 ปี ไม่มีงานทำเป็น
การถาวร จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ธนาคารจะอนุมัติเงินกู้ได้แม้จะมีโฉนดที่ดินเป็นหลักฐานค้ำประกัน และบิดา
ของ นาย ก. เป็นโรคไวรัสขึ้นสมอง เกรงว่าอาจเกิดปัญหาในการทำนิติกรรม จึงตัดสินใจโอนที่ดินให้
นาย ก. เมื่อ นาย ก. ได้รับโอนที่ดินแล้ว จึงติดต่อกับธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเพื่อขอกู้เงิน แต่ได้รับ
การปฏิเสธเนื่องจากที่ดินขาดสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า และน้ำประปา เป็นเหตุให้ นาย ก. ต้องขาย
ที่ดินแปลงดังกล่าว โดยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการทำธุรกิจในทางการค้าหรือหากำไร
รายการที่ 2 การขายห้องชุดอาคารชุดคอนโดมิเนียมตั้งอยู่บนโฉนดเลขที่ โดย นาย ก. ได้
นำเงินจากการขายที่ดินตามรายการที่ 1 มาซื้อห้องพักดังกล่าวในปี พ.ศ. 2535 เพื่อให้บิดาและ
ครอบครัวได้พักอาศัยอยู่ตลอดเวลาที่ครอบครองกรรมสิทธิ์มิได้ซื้อไว้เพื่อหวังผลกำไรแต่อย่างใด เมื่อบิดา
ของ นาย ก. ได้เสียชีวิตลง และจะมีการเวนคืนที่ดินในบริเวณดังกล่าวเพื่อตัดถนนสายใหม่ นาย ก.
จึงได้ขายห้องชุด เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2537
แนววินิจฉัย: 1. การขายที่ดินตามรายการที่ 1 เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วัน
ได้รับอสังหาริมทรัพย์นั้นมา จึงเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งค้าหรือหากำไร ตาม
มาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์
เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม
มาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร
2. สำหรับการขายห้องชุดตามรายการที่ 2 หาก นาย ก. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตาม
กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ย่อมไม่
เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่หาก นาย ก.ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียน
ดังกล่าว นาย ก. ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ
มาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534
เลขตู้: 66/32189


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020