เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/51
วันที่: 6 มกราคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินสนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39, มาตรา 69 ทวิ, มาตรา 77/1(8)(9)(10)
ข้อหารือ: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก
(SMALL POWER PRODUCERS : SPP) ประเภทพลังงานนอกรูปแบบ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้
พลังงานนอกรูปแบบและต้นพลังงานพลอยได้ในประเทศให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น และเป็นการช่วย
แบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐในระบบการผลิตและระบบจำหน่ายไฟฟ้า และไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สพช. จึงได้ใช้เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
(กรมบัญชีกลาง) เพื่อจูงใจให้มีการผลิตและขายไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น โดยจ่ายเป็นค่า
พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น (ADDER) จากอัตรารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP. ที่ กฟผ. กำหนด SPP. ที่ได้รับ
จัดสรรเงินสนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะต้องทำสัญญากับ กฟผ. รวม 2 ฉบับ ฉบับแรก
เป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในอัตราปกติตามที่ กฟผ. ได้มีประกาศไว้ และฉบับที่สองเป็นสัญญารับเงินสนับสนุน
ค่าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากกองทุนฯ โดย กฟผ. จะจ่ายเงินสนับสนุนฯ หลังจากที่ได้รับ
ใบเรียกเก็บเงินแต่ละงวดจาก SPP. แล้ว ซึ่ง SPP. จะยื่นใบเรียกเก็บเงินต่อ กฟผ. เดือนละครั้ง
โดยแยกการเรียกเก็บเงินส่วนที่เพิ่มขึ้นจากอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามปกติของ กฟผ.
สพช. จึงหารือว่า การที่ สพช. ได้ใช้เงินจากกองทุนฯ (กรมบัญชีกลาง) จ่ายเป็นเงิน
สนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น (ADDER) จากอัตรารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP. ที่ กฟผ. กำหนดไว้ โดย
จ่ายผ่านให้ กฟผ. นำไปจ่ายให้กับ SPP. นั้น สพช. กฟผ. และ SPP. ในฐานะผู้จ่ายเงินและผู้รับเงิน
จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไรหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย
กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม
มาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร กฟผ. จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ การจ่ายเงินสนับสนุนฯ ให้ กฟผ.
ตามโครงการดังกล่าวจึงไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
กฟผ. จ่ายเงินสนับสนุนฯ ให้แก่ SPP. ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา
39 แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร กฟผ. ในฐานะ
เป็นองค์การของรัฐบาลจึงมีหน้าที่คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ตามมาตรา 69 ทวิ
แห่งประมวลรัษฎากร
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
สพช. นำเงินจากกองทุนฯ (กรมบัญชีกลาง) ไปจ่ายให้ กฟผ. เพื่อให้ กฟผ. นำไปจ่าย
เป็นเงินสนับสนุนฯ ให้แก่ SPP. ตามโครงการฯ ของ สพช. โดยที่เงินที่ กฟผ. ได้รับจาก สพช. มิใช่
เนื่องจากการกระทำใด ๆ อันเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการตามมาตรา 77/1(8)(9)และ (10)
แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากมิใช่มูลค่าของฐานภาษีตาม
มาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร
กฟผ. นำเงินกองทุนฯ ที่ได้รับจาก สพช. ไปจ่ายเป็นเงินสนับสนุนฯ ให้แก่ SPP. ซึ่ง
เป็นผู้ประกอบการ เนื่องจากสัญญาขอรับเงินสนับสนุนฯ จะต้องมีผลใช้บังคับร่วมกันกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
และการจ่ายเงินสนับสนุนฯ เป็นไปตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ SPP. ขายให้กับ กฟผ. ดังนั้น เงินสนับสนุนฯ
ที่ SPP. ได้รับจาก กฟผ. เป็นเงินจากการขายไฟฟ้าตามอัตราที่คู่สัญญากำหนด ซึ่งเป็นการขายสินค้า
ตามมาตรา 77/1(8) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจาก
เป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32170

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020