เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/592
วันที่: 20 มกราคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการรับเงินบำนาญย้อนหลัง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 35, มาตรา 27 วรรคสอง, มาตรา 56
ข้อหารือ: นาย ก. ถูกปลดออกจากราชการ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2542 ตามสิทธิจะได้รับเงินบำนาญ
จากราชการนับแต่วันถูกปลดออก แต่เนื่องจาก นาย ก. ได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อเลขาธิการ
คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ขณะที่ผลการอุทธรณ์ยังไม่แล้วเสร็จ นาย ก. ได้เบิกเงินบำนาญเดือน
พฤษภาคม 2542 ถึงเดือนธันวาคม 2543 โดยมีบุคคลค้ำประกันเมื่อเดือนมกราคม 2544 เป็นเงิน
662,966.48 บาท ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2545 นาย ก. ได้ยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี พ.ศ.
2544 โดยแสดงรายได้รวมเงินบำนาญของปี พ.ศ. 2542 ถึงปี พ.ศ. 2544 ด้วย รวมเป็นเงิน
1,028,778.08 บาท เมื่อรวมรายได้อื่นทำให้มีรายได้รวม 1,463,930.48 บาท คำนวณแล้วต้องเสีย
ภาษี เป็นเงิน 254,679.14 บาท ทั้งที่ไม่ใช่รายได้ของ นาย ก. ในหนึ่งปี นาย ก. จึงหารือว่า จะ
เป็นไปได้เพียงใดและด้วยวิธีใดที่กรมสรรพากรจะคำนวณภาษีเงินได้ใหม่เป็นรายปีแยกจากกัน
แนววินิจฉัย: เงินบำนาญเดือนพฤษภาคม 2542 ถึงเดือนธันวาคม 2543 ที่ นาย ก. ได้รับเมื่อเดือน
มกราคม 2544 ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของปีภาษี พ.ศ. 2542 ถึง 2543 ตามมาตรา 56 แห่ง
ประมวลรัษฎากร และกรณีดังกล่าวถือเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้
ตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร จึงอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อ
เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี พ.ศ. 2542 ถึง 2543 ของ นาย ก. ออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันที่ได้
รับหนังสือตอบ ซึ่งมีผลให้ไม่ต้องรับผิดเสียค่าปรับอาญากรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลา
ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับการลดเงินเพิ่มลงคงเหลือร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือ
เศษของเดือนตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32207


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020