เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10944
วันที่: 19 ธันวาคม 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการนับระยะเวลาการทำงานเพื่อคำนวณเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48(5), ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ
ข้อหารือ: 1. นาง ส. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2541
โดยนำเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแยกคำนวณภาษีตามใบแนบแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.91 กรณี
คำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน และขอคืนภาษีตามใบแนบทั้งสิ้น
872,840.06 บาท ต่อมาได้รับแจ้งจากสำนักงานสรรพากรพื้นที่ กรณีดังกล่าวมีอายุการทำงานใน
ธนาคารฯ เพียง 11 เดือน เงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับจึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่
นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ต้องนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวไปรวม
คำนวณเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร และได้ชี้แจงเพิ่มเติมดังนี้
(1) นาง ส. ได้ทำงานในบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ฯ และเป็นสมาชิก
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทดังกล่าวเป็นเวลา 11 ปี ได้ลาออกจากบริษัทฯ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2540
และเข้าทำงานทันทีในธนาคารฯ ในวันที่ 8 กันยายน 2540 และได้สมัครเป็นสมาชิก
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคารฯ ทันที ผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ฯ คือ
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. ได้โอนเงินสำรองเลี้ยงชีพของ นาง ส. ไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ธนาคารฯ การโอนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ฯ มายังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ธนาคารฯ ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคารฯ
(2) เนื่องจากทางการเข้าแทรกแซงธนาคารฯ ในวันที่ 14 สิงหาคม 2541 กรรมการ
ธนาคารฯ ทั้งชุดรวมถึง นาง ส. ได้ถูกคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทยปลดออกจากธนาคารฯ รวมเวลา
ที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคารฯ 10 เดือน
(3) การยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2541 นาง ส. ได้คำนวณภาษีตามใบ
แนบแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.91 โดยนับเวลาการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัท
เงินทุนหลักทรัพย์ฯ มารวมกับการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคารฯ เป็นระยะเวลา 11 ปี 10
เดือน ตามความเห็นของกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคารฯ
แนววินิจฉัย: ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการโอน
เงินกองทุนของสมาชิกจากกองทุนหนึ่งไปยังอีกกองทุนหนึ่ง กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว หาก นาง ส.
ได้ลาออกจากบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ฯ แล้วเข้าทำงานทันทีในธนาคารฯ โดยได้โอน
เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของ นาง ส. จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ฯ ไปยัง
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคารฯ และไม่ได้จ่ายเงินได้ประเภทเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุ
ออกจากงานให้แก่ นาง ส. นาง ส. จึงสามารถนำอายุการทำงานกับบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ฯ
ต่อเนื่องกับธนาคารฯ ได้ เพื่อการหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ
2(ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.
2535
เลขตู้: 65/32140

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020