เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./10733
วันที่: 11 ธันวาคม 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนกรรมสิทธิ์เครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(8), มาตรา 78(1)
ข้อหารือ: บริษัท ด. ได้รับอนุญาตจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ให้เป็นผู้ดำเนินการ
ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ Digital GSM PCN โดยมีเงื่อนไขสัญญาสัมปทานกำหนดให้บริษัทฯ
เป็นผู้ลงทุนจัดหาเครื่องและอุปกรณ์ชุมสาย ระบบควบคุม ระบบ Billing ระบบเชื่อมโยงเครื่องและ
อุปกรณ์ สถานีเครือข่าย รวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ เมื่อบริษัทฯ ติดตั้งเครื่อง
และอุปกรณ์ดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์และ กสท. ได้ตรวจสอบและทดสอบความถูกต้องเรียบร้อยและให้
ความเห็นชอบเป็นหนังสือแล้ว ให้เครื่องและอุปกรณ์ดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กสท. นับตั้งแต่วันที่
กสท. ให้ความเห็นชอบ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ กสท. เป็นระยะ ๆ โดย
ทรัพย์สินดังกล่าว บริษัทฯ ได้ประกอบและติดตั้งลงในสถานที่ที่บริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่าไว้ในนามบริษัทฯ
ซึ่งข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติบริษัทฯ จะมีหนังสือแจ้งขอส่งมอบทรัพย์สินไปยัง กสท. พร้อมบัญชีรายการ
ทรัพย์สินรวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับมูลค่าทั้งหมดของทรัพย์สินนั้น ซึ่งภายหลังจาก กสท. ได้รับหนังสือ
แจ้งดังกล่าว กสท. จะประสานงานกับบริษัทฯ เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการตรวจสอบความมีอยู่
และความถูกต้องของรายการทรัพย์สินตามที่ปรากฏในหนังสือแจ้ง ณ สถานที่ติดตั้งทรัพย์สินนั้น หาก กสท.
ตรวจสอบพบว่ารายการทรัพย์สินตามที่ปรากฏถูกต้องสมบูรณ์ กสท. จะมีหนังสือแจ้งยืนยันการตอบรับ
ทรัพย์สินนั้นไปให้บริษัทฯ ทราบ บริษัทฯ เข้าใจว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ คือ
วันที่ กสท.แจ้งว่าได้รับมอบทรัพย์สินจากบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริง คือวันที่ 9 ตุลาคม 2544 แต่ กสท.มี
หนังสือแจ้งให้บริษัทฯ ทราบ ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 บริษัทฯ หารือว่าความเข้าใจของบริษัทฯ
ถูกต้องหรือไม่ หากความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้อง ขอให้กรมสรรพากรพิจารณางดเบี้ยปรับสำหรับการ
ยื่นแบบแสดงรายการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มล่าช้าให้แก่บริษัทฯ ด้วย
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ ส่งมอบเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมให้แก่ กสท. โดยสัญญามีเงื่อนไขว่าให้
เครื่องและอุปกรณ์ดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กสท. นับตั้งแต่วันที่ กสท. ให้ความเห็นชอบเป็นหนังสือ
กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความรับผิดใน
การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้า หรือ
ได้รับชำระราคาสินค้า หรือได้ออกใบกำกับภาษีก่อนการส่งมอบสินค้าก็ถือว่าความรับผิดในการเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น
ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ จึงเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า แต่เนื่องจากบริษัทฯ
ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี จึงให้งดเบี้ยปรับตามมาตรา 89(3)และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่
บริษัทฯ ทั้งนี้ ตามข้อ 2 และข้อ 11 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 ฯ ลงวันที่ 9
กรกฎาคม พ.ศ. 2542
เลขตู้: 65/32115


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020