เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9497
วันที่: 28 ตุลาคม 2545
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ใช้ในเกษตรกรรม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534, มาตรา 91/2(6)
ข้อหารือ: นาง ก. อยู่จังหวัดกำแพงเพชร ได้รับโอนที่ดินจากบิดาโดยการยกให้เมื่อวันที่ 5 มกราคม
2536 และต่อมาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2539 ได้ทำบันทึกตกลงยอมให้ บริษัท ผลิตภัณฑ์และค้าวัสดุ
ก่อสร้าง จำกัด ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน 1,500,000
บาท เจ้าพนักงานฯ เห็นว่า การที่ นาง ก. ยินยอมให้บริษัทฯ มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินแปลงดังกล่าว ถือ
เป็นการขายและเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์
นั้น จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์อันเข้าลักษณะที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 มาตรา 3(6) แห่งประมวลรัษฎากร และได้ประเมินเรียกเก็บ
ภาษีธุรกิจเฉพาะพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 175,972 บาท
นาง ก. ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543
โดยชี้แจงในคำอุทธรณ์ว่า ที่ดินที่ตนขายไปนั้นได้ใช้ทำนามาตลอด เมื่อขายไปจึงเป็นการขายที่ดินที่ใช้ใน
การเกษตรกรรม ย่อมได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 3(5) ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่
244) พ.ศ. 2534 แห่งประมวลรัษฎากร สำนักงานสรรพากรภาคได้พิจารณาอุทธรณ์ของ นาง ก. แล้ว
เห็นว่า การขายที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้นั้นใช้ในการเกษตรกรรม ไม่เข้า
ลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.
2534 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด แต่การขายที่ดินที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1)(2)(3)(4) หรือ (5)
ของมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ถ้าได้มีการกระทำภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้มาต้องอยู่
ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 3(6) ด้วย
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จังหวัดโดยเสียงข้างมากเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงมีมติ
ให้เสนอปัญหาต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยให้ความเห็นต่อไป
ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3) ได้พิจารณาข้อหารือแล้วมีความเห็นว่า หาก
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจาก นาง ก. ได้รับที่ดินมาจากบิดาแล้วได้ใช้ทำนามาโดยตลอดจนถึงวันขาย
ให้แก่บริษัทฯ เพื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินแปลงดังกล่าว กรณีย่อมเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์
ที่ผู้ขายมีไว้เพื่อประกอบกิจการประเภทที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม ซึ่งไม่ถือว่าเป็น
การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน
ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534
จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย: คณะรัฐมนตรีได้มีมติคณะรัฐมนตรีว่า กรณีกระทรวง ทบวง กรม ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา
พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมาย และเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในทางกฎหมายเป็น
ประการใดแล้ว โดยปกติให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ดังนั้น กรณีตาม
ข้อเท็จจริงข้างต้น ให้ถือปฏิบัติตามแนวความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา
เลขตู้: 65/32009

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020