เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.01)/53
วันที่: 17 ตุลาคม 2545
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการเสียภาษีจากการขายที่ดินภายใต้พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(6), มาตรา 91/21
ข้อหารือ: บริษัทฯ ขายที่ดินในปี พ.ศ. 2535 บริษัทฯ เห็นว่า ขณะขายที่ดินไปนั้นอยู่ในบังคับตามมาตรา
3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 แต่ปัจจุบันพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวได้ถูก
ยกเลิกโดยมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย
การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 โดยเด็ดขาดและไม่มี
บทเฉพาะกาลให้การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะที่ค้างอยู่หรือที่ถึงกำหนดชำระก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้
ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไป จึงทำให้เหตุในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่
244) พ.ศ. 2534 ไม่มีอีกต่อไป เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่อาจทำการประเมินในกรณีดังกล่าวได้
แนววินิจฉัย: พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การขายอสังหาริมทรัพย์ที่
เป็นทางค้าหรือหากำไร ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 91/2(6)
แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทขายอสังหาริมทรัพย์เข้าลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งอยู่ใน
บังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในระหว่างเวลาที่พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ บริษัทฯ จึงมี
หน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวและกรมสรรพากรก็มีสิทธิในการจัดเก็บภาษีโดย
ชอบด้วยกฎหมาย แม้ในภายหลังได้มีการยกเลิกหลักเกณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับเดิมดังกล่าว
ดังนั้นหากบริษัทฯ ไม่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามที่ควรต้องเสียภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมาย
กำหนด เจ้าพนักงานประเมินมีสิทธิที่จะใช้อำนาจประเมินให้เสียภาษี โดยใช้อำนาจตามบทบัญญัติมาตรา
91/21 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่จะประเมินให้เสียภาษีย้อนหลังตามที่
กฎหมายบัญญัติได้อยู่แล้ว
เลขตู้: 65/31996

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020