เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.06)/พ./09
วันที่: 14 ตุลาคม 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขายสินค้าในเขตอุตสาหกรรมส่งออก การจัดทำเอกสารและขอคืนภาษีซื้อ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(14)(ก)
ข้อหารือ: บริษัท ร. ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์พลาสติกที่ใช้กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์หรือ
เคลือบด้วยพลาสติก โดยกิจการบางส่วนตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเวลโกว์ และเขตนิคมอุตสาหกรรม
แปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ตามลำดับ ได้ผลิตส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ด้วยพลาสติกให้กับ บมจ. D ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
สำหรับการผลิตจอภาพ (Monitor) ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปู อันเป็นเขตอุตสาหกรรมส่งออก
โดยในระยะแรก บมจ. D ได้จัดหาวัตถุดิบให้แก่ บริษัทฯ เพื่อทำการผลิต และบริษัทฯ ได้
ออกใบกำกับภาษีเป็นรายได้จากการรับจ้าง และ บมจ. D ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ
3.0 ต่อมา บมจ. D ได้มอบหมายให้บริษัทฯ เป็นผู้จัดซื้อวัตถุดิบ ได้แก่ เม็ดพลาสติกและวัสดุอื่นๆ เพื่อ
ใช้ในการผลิตส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2544 เป็นต้นไป ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้
จัดทำเอกสารการจำหน่ายสินค้าให้กับ บมจ. D ได้แก่ ใบขนสินค้าขาออก (กศก.101/1) ใบ Packing
List และ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แทนใบ Invoice โดย
ระบุอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 0
บริษัทฯ หารือว่า
1. การจำหน่ายสินค้าที่ผลิตให้กับ บมจ. D โดยบริษัทฯ ดำเนินพิธีการทางศุลกากร ยื่น
ใบขนสินค้าขาออกและมีการตรวจปล่อยสินค้าในเขตอุตสาหกรรมส่งออกจะถือว่าบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตส่งออก
และได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 77/1(14)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
หรือไม่
2. บริษัทฯ จะขอคืนภาษีซื้อจากการซื้อวัตถุดิบ ได้แก่ เม็ดพลาสติกและวัสดุอื่นๆ เพื่อใช้ผลิต
สินค้าให้กับ บมจ. D ได้ทั้งจำนวนหรือไม่
3. หากการจัดทำเอกสารการส่งออกของบริษัทฯ ถูกต้อง และเป็นกรณีบริษัทฯ มีสิทธิได้รับ
ภาษีซื้อ บริษัทฯ จะได้รับคืนภาษีที่ขอคืนด้วยแบบ ภ.พ.30 เป็นระยะเวลานานเท่าใด
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนจำหน่ายสินค้าให้กับ บมจ. D ซึ่งอยู่ในเขต
ปลอดอากร โดยบริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินพิธีการทางศุลกากร ถือเป็นการส่งออกตามมาตรา 77/1(14)(ก)
แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่ง
ประมวลรัษฎากร และเนื่องจากเขตปลอดอากร ไม่ใช่เรื่องนำสินค้าออกนอกประเทศอย่างแท้จริง ยังคง
เป็นเขตแดนในประเทศ บริษัทฯ ต้องจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่ง
ประมวลรัษฎากร และระบุอัตราภาษีร้อยละ 0 ทั้งนี้ตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.97/2543
เรื่อง การส่งออกสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตาม
มาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.109/2545 ฯ ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2545
2. กรณีบริษัทฯ ซื้อเม็ดพลาสติกและวัสดุอื่นๆ เพื่อใช้ผลิตสินค้าให้กับ บมจ. D ได้ถูก
ผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็น
ภาษีซื้อของบริษัทฯ ตามมาตรา 77/1(18) แห่งประมวลรัษฎากร ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตาม
มาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ให้ผู้ประกอบการชำระภาษีเท่ากับส่วน
ต่างนั้น หากภาษีซื้อมากกว่าขาย ให้เป็นเครดิตภาษีและให้บริษัทฯ มีสิทธิได้รับคืนภาษีหรือนำไป
ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ภาษีซื้อดังกล่าวต้องไม่เข้าลักษณะเป็น
ภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรมสรรพากรได้มีหนังสือลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2544 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติงานตาม
ระบบปฏิบัติงานใหม่ เพื่อกำกับดูแลผู้เสียภาษีโดยใกล้ชิดเป็นรายผู้ประกอบการและให้เป็นปัจจุบัน โดยได้
กำหนดแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสด ระบบงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ซึ่งกำหนดขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับงานกรรมวิธีและงานคืนภาษี การดำเนินการตรวจ ฯลฯ โดยมี
กำหนดระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนไว้ อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรได้มีคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.
272/2541 เรื่อง การพิจารณาคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสดกรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์คัดเลือกราย
เพื่อตรวจสอบหรือกรณีประเด็นที่ขอคืนชัดแจ้งลงวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2541 ได้กำหนดให้ผู้มีอำนาจ
ประเมินสั่งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ขอคืนไปก่อนโดยวางหลักประกันอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
1. จัดให้มีธนาคารค้ำประกันภายในวงเงินที่ขอรับคืนไปก่อน โดยสัญญาค้ำประกันต้องมี
ข้อความอย่างน้อยตามแบบแนบคำสั่ง
2. จัดให้มีหลักทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินมีโฉนดจำนองเป็นประกันซึ่งผู้ขอคืน
ภาษีจะต้องมีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด
3. จัดให้มีพันธบัตรของรัฐบาลไทยหรือขององค์การรัฐบาล จำนำเป็นประกัน
4. จัดให้มีการประกันโดยบัญชีเงินฝากธนาคารของสมาคมผู้ส่งออกหรือของสมาคมกลุ่ม
ผู้ประกอบการอื่นๆ ซึ่งมีเงินฝากไม่น้อยกว่าวงเงินขอคืนของสมาชิกเงินฝากธนาคารดังกล่าว ต้องมี
เงื่อนไขเบิกถอนไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากร
มอบหมาย โดยมีการลงชื่อร่วมกับเจ้าพนักงานซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมสรรพากรในการเบิกถอน
5. ผู้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มประสงค์จะจัดให้มีหลักประกันอื่นๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรเห็นสมควร
ซึ่งการวางหลักประกันเพื่อขอคืนเงิน ผู้มีอำนาจประเมินสั่งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ขอคืน
ดังนี้
(1) กรณีเป็นสัญญาค้ำประกันของธนาคาร ให้สั่งคืนไปก่อนโดยไม่เกินวงเงินตามสัญญา
ค้ำประกันของธนาคาร โดยไม่ชักช้าภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอคืนเงิน หรือภายใน 30 วัน
นับแต่วันได้รับหนังสือยืนยันจากธนาคารผู้ค้ำประกัน
(2) กรณีเป็นหลักทรัพย์อื่น ให้สั่งคืนไปก่อนโดยไม่เกินวงเงินตามมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ได้
รับอนุมัติให้วางประกัน โดยไม่ชักช้าภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอคืนเงิน หรือภายใน 30 วัน
นับแต่วันที่บันทึกการส่งมอบหลักทรัพย์
กรณีบริษัทฯ ได้รับการจัดระดับเป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดีบริษัทฯ จะได้รับคืน
ภาษีมูลค่าเพิ่มภายในระยะเวลาดังนี้
(ก) ผู้ประกอบการส่งออกที่ดี ที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านเครือข่าย
อินเตอร์เน็ต จะได้รับการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้สิทธิดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่เดือนภาษีที่อธิบดีกรมสรรพากรอนุมัติให้
เป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดี
(ข) ผู้ประกอบการส่งออกที่ดี ที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สำนักงาน
สรรพากรเขต หรือสำนักงานสรรพากรอำเภอ จะได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 60 วันนับแต่วันที่ยื่น
แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้สิทธิดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่เดือนภาษีที่อธิบดี
กรมสรรพากรอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดีทั้งนี้ ตามข้อ 7 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.
58/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดระดับผู้ประกอบการส่งออกที่ดี ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ซึ่ง
แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.246/2544 ฯ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2544
เลขตู้: 65/31992

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020