เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.05)/07
วันที่: 14 ตุลาคม 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายค่าธรรมเนียมธนาคาร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 3 เตรส, มาตรา 40(8), มาตรา 50 ทวิ, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ ขออนุมัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และหารือเกี่ยวกับการหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน
ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.
2528 ดังนี้
1. บริษัทฯ ขออนุมัติออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นยอดรวมเนื่องจากการทำ
ธุรกรรมของบริษัทฯ กับธนาคาร สถาบันการเงิน และบริษัทต่าง ๆ ที่เป็นตัวแทนรับชำระเงินให้แก่บริษัทฯ
มีปริมาณรายการมากในแต่ละวัน ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ
ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการหักเงินจากบัญชีธนาคาร หรือทุกครั้งที่มีการหักค่าธรรมเนียมจากยอดเงินที่เรียกเก็บ
ได้ ตามมาตรา 50 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ
(ก) ขอออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยรวมยอดค่าบริการหรือค่าธรรมเนียม
ที่จ่ายหลาย ๆ ครั้ง เพื่อออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเพียง 1 ฉบับ หรือ
(ข) ขอออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยยอดรวมทั้งหมดของค่าบริการหรือ
ค่าธรรมเนียมที่บริษัทฯ จ่ายไปเป็นเงินสด หรือโดยการหักเงินจากบัญชีธนาคารตลอดเดือนนั้น ๆ เพื่อ
ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเพียง 1 ฉบับ
การออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตาม (ก) และ (ข) บริษัทฯ จะระบุ วัน
เดือน ปี เป็นวันใดวันหนึ่งของเดือนที่มีการหักเงินจากบัญชีธนาคาร และบริษัทฯ จะออกหนังสือรับ
รองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเพียง 1 ฉบับให้กับธนาคารแต่ละแห่ง รวมหลายสาขาธนาคารไว้ด้วยกัน
โดยระบุที่อยู่ของสำนักงานใหญ่ของธนาคารเพียงแห่งเดียว
2. บริษัทฯ จ่ายค่าธรรมเนียมบางประเภทดังต่อไปนี้ให้แก่ธนาคาร จะถือเป็นสัญญาระยะยาว
หรือไม่
(ก) ค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างบัญชีตามคำสั่งถาวรของบริษัทฯ โดยที่บริษัทฯ มี
คำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ธนาคารทำการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของบริษัทฯ บัญชีหนึ่งไปอีกบัญชีหนึ่ง
เช่น เมื่อเงินคงเหลือในบัญชีที่รับโอนมีไม่เพียงพอ เป็นต้น
(ข) ค่าธรรมเนียมการโอนเงินเป็นครั้งคราวตามบริการปกติของธนาคาร เช่น กรณีโอน
เงินให้แก่บริษัทอื่น เป็นต้น
(ค) ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน และค่าธรรมเนียมการใช้เช็ค
(ง) ค่าซื้อสมุดเช็ค และค่าอากรแสตมป์ที่ใช้ปิดเช็ค
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ขออนุมัติออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นยอดรวม โดย
รวมยอดค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมที่จ่ายหลาย ๆ ครั้ง เพื่อออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
เพียง 1 ฉบับ หรือรวมยอดค่าบริการหรือค่าธรรมเนียม 1 เดือน เพื่อออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ
ที่จ่าย 1 ฉบับ ซึ่งในกรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ
มาตรา 50 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่หักไว้แล้วในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณที่จ่าย แต่เพื่อเป็นการลด
ภาระการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย อธิบดีมีอำนาจยกเว้นการออกหนังสือรับรองการหักภาษี
ณ ที่จ่ายได้ในกรณีที่เห็นสมควร ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร จึงผ่อนผันให้บริษัทฯ
ไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายค่าธรรมเนียมในทันทีทุกครั้งที่มีการหัก
ภาษี ณ ที่จ่าย โดยให้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย 1 ครั้งต่อเดือนแยกเป็นรายธนาคารหรือ
แต่ละรายบริษัทลูกค้าที่บริษัทฯ ได้ใช้บริการตามสัญญาระยะยาว และบริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ
ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าธรรมเนียม
2. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการ แก่ธนาคารตาม 2(ก)-(ค) กรณีใดเข้า
ลักษณะสัญญาระยะยาวหรือไม่ให้พิจารณาตามแนวทางปฏิบัติ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.112/2545 ฯ
ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2545
3. กรณีตาม 2(ง) ค่าซื้อสมุดเช็คและค่าอากรแสตมป์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 987 บัญญัติว่า "อันว่าเช็คนั้น คือ หนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่าย สั่งธนาคาร
ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่ง เมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งอัน
เรียกว่าผู้รับเงิน" ดังนั้น ค่าสมุดเช็ค จึงเป็นค่าธรรมเนียมธนาคาร มิใช่ค่าขายเช็ค ถือเป็น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และเข้าลักษณะเป็นการให้บริการ ดังนั้น
เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าธรรมเนียมสมุดเช็คให้กับธนาคารตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528
เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ
ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.112/2545 ฯ ลงวันที่ 1
พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ส่วนอากรแสตมป์นั้นเป็นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง ซึ่งเก็บจาก
การกระทำตราสารที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ และเช็คเป็นตราสารที่ต้องเสียอากร ตาม
ลักษณะแห่งตราสาร 12. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ โดยผู้สั่งจ่ายเป็นผู้ที่ต้องเสียอากร ดังนั้น เมื่อ
บริษัทฯ จ่ายค่าอากรแสตมป์ บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
เลขตู้: 65/31979

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020