เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.07)/พ./822
วันที่: 2 กรกฎาคม 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการผลิตอาหารที่ทำจากปลา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ข), มาตรา 81(1)(ง)
ข้อหารือ: บริษัท A ประกอบกิจการผลิตอาหารกระป๋องที่ทำจากปลามีกระบวนการผลิตโดยการนำปลาไป
นึ่งทั้งตัวปล่อยให้เย็นเลาะกระดูกและเศษหนังออกจะมีเศษเนื้อปลาที่ใช้ไม่ได้ บริษัทฯ จะนำปลาที่นึ่งไป
ทำอาหารกระป๋องภาชนะปิดผนึกสำหรับคน เลือดนำไปทำอาหารกระป๋องภาชนะปิดผนึกสำหรับแมว
กระดูก เศษหนัง เลือดเสีย ขายให้ผู้ซื้อไปทำอาหารสัตว์ บริษัทฯ หารือว่า
1. ปลาที่นึ่งไปทำอาหารกระป๋องภาชนะปิดผนึกสำหรับคน ถ้าขายในประเทศจะเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
2. เลือดปลาที่นำไปทำอาหารกระป๋องภาชนะปิดผนึกสำหรับแมว ถ้าขายในประเทศจะเป็น
สินค้าตามมาตรา 81(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ถ้าเป็นสินค้า
ที่ได้รับการยกเว้น ภาษีซื้อที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งไม่สามารถแยกออกจากกระบวนการ
ผลิตได้ จะใช้หลักเกณฑ์การเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา
82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 ได้หรือไม่ (กรณีขายไม่เกิน 10% ของ
ยอดขายทั้งหมด)
3. กระดูก เศษหนัง เลือดปลาเสีย ที่ขายให้ผู้ซื้อนำไปทำอาหารสัตว์จะเป็นสินค้าตามมาตรา
81(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ นำปลาที่นึ่งไปทำอาหารกระป๋องสำหรับคน การขายอาหารกระป๋องสำหรับคน
เข้าลักษณะเป็นการขายผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อ ที่ทำเป็นอุตสาหกรรม สินค้า
ดังกล่าวไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ
1(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 3) เรื่อง กำหนดลักษณะและ
เงื่อนไขของผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อ ที่ทำเป็นอุตสาหกรรม ตามมาตรา
81(1)(ก) และ (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534
2. กรณีบริษัทฯ นำเลือดปลาไปใช้ในการผลิตอาหารกระป๋องสำหรับแมวเพื่อจำหน่าย
การขายอาหารกระป๋องสำหรับแมวดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายอาหารสัตว์ ได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ถ้าภาษีซื้อส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการ
ผลิตอาหารสัตว์ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มไม่สามารถแยกออกจากกระบวนการผลิตทั้งหมดได้ และหาก
รายได้ของปีที่ผ่านมาของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของ
รายได้ของกิจการทั้งหมด บริษัทฯ มีสิทธิเลือกนำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขายตามข้อ 3(1)
ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากรลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
3. กรณีบริษัทฯ ขายกระดูก เศษหนัง เลือดปลาเสียที่เกิดจากกระบวนการการผลิตปลาโดย
ผ่านการนึ่งเพื่อมาแยกหัวปลา หนังปลาและก้างปลา ซึ่งโดยสภาพไม่สามารถใช้เป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์
อาหารได้ ยังคงมีลักษณะเป็นเศษซากของสัตว์ ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการขายวัตถุดิบ เหลือใช้จาก
ผลิตภัณฑ์ปลา จึงเข้าลักษณะเป็นการขายสัตว์ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม
มาตรา 81(1)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 65/31773

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020