เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/ก.949
วันที่: 29 กรกฎาคม 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ
ข้อหารือ: บริษัท ก. ประกอบกิจการขายส่งและขายปลีกสินค้าวัสดุก่อสร้างให้ลูกค้าทั้งที่เป็น
ผู้แทนจำหน่ายสินค้า (เอเย่นต์) ของบริษัทฯ และลูกค้าซึ่งซื้อสินค้าไปใช้ในกิจการโดยตรง (ผู้รับเหมา
ก่อสร้าง) มีปัญหาเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ
ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ดังนี้
1. บริษัทฯ และผู้แทนจำหน่ายมีข้อตกลงว่าเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ค่าสินค้าที่
ผู้แทนจำหน่ายซื้อจากบริษัทฯ บริษัทฯ ได้กำหนดให้ผู้แทนจำหน่ายรายที่ชำระหนี้ด้วย ตั๋วสัญญาใช้เงินนำ
ตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้ธนาคารอาวัล เมื่อผู้แทนจำหน่ายชำระค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคารแล้ว บริษัทฯ
จะจ่ายเงินช่วยเหลือค่าธรรมเนียมการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว ทั้งหมดให้ผู้แทนจำหน่ายภายหลัง
บริษัทฯ เข้าใจว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าธรรมเนียมดังกล่าว มิใช่การจ่ายค่าบริการหรือประโยชน์ใด ๆ
เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
2. บริษัทฯ ปรับเปลี่ยนนโยบายการจัดจำหน่ายสินค้าโดยยกเลิกคลังสินค้าทั่วประเทศและใช้
สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางในการติดต่อกับผู้แทนจำหน่ายส่งผลให้ผู้แทนจำหน่ายมีค่าใช้จ่าย
เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศต้องการติดต่อ บริษัทฯ ต้องโทรศัพท์ถึงสำนักงานใหญ่ใน
กรุงเทพฯ บริษัทฯ จึงตกลงกับผู้แทนจำหน่ายว่าจะชดเชยส่วนต่างค่าโทรศัพท์ซึ่งเกินจากค่าโทรศัพท์ใน
เขตพื้นที่เดียวกันให้ผู้แทนจำหน่าย บริษัทฯ เข้าใจว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าโทรศัพท์ทางไกลดังกล่าว
มิใช่การจ่ายค่าบริการหรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
3. บริษัทฯ ขายสินค้าโดยขนส่งถึงร้านผู้แทนจำหน่าย บริษัทฯ ได้นำต้นทุนค่าขนส่งมารวมเป็น
ส่วนหนึ่งของค่าสินค้า อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มีข้อตกลงกับผู้แทนจำหน่ายว่าหากผู้แทนจำหน่ายซื้อสินค้าจาก
บริษัทฯ โดยขนส่งเอง บริษัทฯ จะช่วยเหลือเงินค่าขนส่งให้ผู้แทนจำหน่ายในภายหลังตามยอดซื้อของ
ผู้แทนจำหน่าย บริษัทฯ เข้าใจว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าขนส่งดังกล่าว มิใช่ประโยชน์ใด ๆ เนื่องจาก
การส่งเสริมการขาย
4. บริษัทฯ และผู้แทนจำหน่ายมีข้อตกลงกันว่า บริษัทฯ จะจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อให้
ผู้แทนจำหน่ายนำสินค้าซึ่งซื้อจากบริษัทฯ ไปจัดแสดงหรือติดตั้งให้เห็นสภาพการใช้งานจริง เช่น ปู
กระเบื้องและติดตั้งสุขภัณฑ์เพื่อจัดแสดงเป็นห้องน้ำเมื่อผู้แทนจำหน่ายจ่ายค่าจ้างก่อสร้างให้ผู้รับเหมาแล้ว
บริษัทฯ จะช่วยเหลือค่าจ้างก่อสร้างดังกล่าวให้ผู้แทนจำหน่าย บริษัทฯ เข้าใจว่าจะต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย จากเงินช่วยเหลือ ในอัตราร้อยละ 2.0 เพราะถือเป็นค่าโฆษณาตามข้อ 10 ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
5. บริษัทฯ ได้จัดสัมมนาให้ผู้แทนจำหน่ายเพื่อแนะนำสินค้าที่ออกใหม่หรือเพื่อเพิ่มความเข้าใจ
ในสินค้าที่ผู้แทนจำหน่ายซื้อจากบริษัทฯ ไปจำหน่าย และบางครั้งได้จัดสัมมนาให้ความรู้ในการประกอบ
ธุรกิจ ซึ่งทั้งสองกรณี บริษัทฯ ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้แทนจำหน่ายและได้จ่ายเงินช่วยเหลือ
ค่าเดินทางและค่าที่พักให้กับผู้แทนจำหน่าย บริษัทฯ เข้าใจว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวมิใช่การ
จ่ายค่าบริการหรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
6. บริษัทฯ ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตสินค้า (Supplier) ซึ่งผู้ผลิตสินค้าขายสินค้าราคาหน้า
โรงงานโดยบริษัทฯ ขนส่งสินค้าเอง ตัวอย่างเช่น บริษัทฯ จ่ายค่าขนส่ง 12 บาท แต่เมื่อบริษัทฯ
จำหน่ายสินค้าต่อให้ผู้แทนจำหน่าย บริษัทฯ ขายสินค้าพร้อมขนส่งสินค้าไปยังสถานที่ที่ผู้แทนจำหน่ายกำหนด
โดยบริษัทฯ แยกรายการค่าสินค้าและค่าขนส่งในใบกำกับภาษีไว้ชัดเจนและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งค่า
สินค้าและค่าขนส่งจากผู้แทนจำหน่าย ตัวอย่างเช่น ราคาสินค้า 101 บาท ค่าขนส่ง 10 บาท รวมราคา
สินค้าทั้งสิ้น 111 บาท ซึ่งบริษัทฯ ขาดทุนจากค่าขนส่ง 2 บาท (12-10) ผู้ผลิตสินค้าตกลงจ่าย
เงินชดเชยผลขาดทุนค่าขนส่งคืนให้กับบริษัทฯ จำนวน 2 บาท บริษัทฯ เข้าใจว่า เงินชดเชยผลขาดทุน
ค่าขนส่งดังกล่าว มิใช่ค่าบริการหรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
7. กรณีส่วนลดเงินสดตามข้อ 7 ของคำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่ายฯ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 กำหนดว่า หากระบุเงื่อนไขส่วนลดเงินสดไว้ในใบส่งของและ
ใบแจ้งหนี้หรือใบกำกับภาษีแล้ว บริษัทผู้จ่ายไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย นั้นเนื่องจากเอกสารของ
บริษัทฯ เป็นระบบ Pre-Print ที่ไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมข้อความดังกล่าว (พิมพ์ไว้จำนวนมาก) ได้
ในระยะแรก ซึ่งการแก้ไขโดยพิมพ์ในระบบคอมพิวเตอร์ยังไม่อาจทำได้ และการใช้ตรายางประทับเพิ่ม
ไม่สะดวกเพราะมีเอกสารเป็นจำนวนมาก (เดือนละเป็นหมื่นฉบับ) แต่บริษัทฯ ได้เคยแจ้งผู้แทนจำหน่าย
เรื่องส่วนลดเงินสดดังกล่าวเป็นหนังสือให้ทราบจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของบริษัทฯ แล้ว ก่อนที่จะมี
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ว่าหากผู้แทนจำหน่าย
ชำระหนี้ก่อนกำหนดจะได้รับส่วนลดเงินสดตามอัตราที่บริษัทฯ กำหนดในแต่ละช่วงเวลา บริษัทฯ เข้าใจ
ว่าการให้ส่วนลดเงินสดดังกล่าวไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณที่จ่าย
8. บริษัทฯ ได้จ่ายส่วนลดภายหลัง (Rebate) ให้ผู้แทนจำหน่ายโดยพิจารณาจากยอดซื้อของ
ผู้แทนจำหน่ายและจ่ายในลักษณะเป็นใบลดหนี้ (Credit Note) ให้ผู้แทนจำหน่ายนำมาชำระหนี้ค่าซื้อ
สินค้าจากบริษัทฯ ในอนาคต ตามงวดการชำระเงินค่าสินค้าของผู้แทนจำหน่ายซึ่งหลังจากวันที่ออก
ใบลดหนี้ บริษัทฯ เข้าใจว่าวันที่บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในวันที่ผู้แทนจำหน่ายนำใบลดหนี้
(Credit Note) มาใช้ชำระเงินค่าสินค้า
9. กรณีผู้แทนจำหน่ายต้องการซื้อสินค้าจากบริษัทฯ เพื่อนำไปใช้ในกิจการของผู้แทนจำหน่าย
โดยตรงและได้รับส่วนลดหลังการขาย หากบริษัทฯ ให้ผู้แทนจำหน่ายทำหนังสือรับรองว่าจะนำสินค้าที่ซื้อ
ไว้ในคราวนั้นไปใช้เฉพาะในกิจการของตนเองมิได้นำไปจำหน่ายต่อบริษัทฯ เข้าใจว่าการจ่ายส่วนลด
หลังการขายสำหรับสินค้าดังกล่าวไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
10. บริษัทฯ ได้จัดทำป้ายตราโฆษณาของบริษัทฯ ติดตั้งไว้ที่ร้านค้าซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่าย โดย
ผู้แทนจำหน่ายได้สำรองเงินค่าภาษีป้ายและและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไปก่อนและเรียกเก็บจากบริษัทฯ ใน
ภายหลัง บริษัทฯ เข้าใจว่าการคืนเงินสำรองจ่ายดังกล่าวข้างต้น บริษัทฯ ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย แต่อย่างใด
11. ในเทศกาลประเพณีสำคัญ ได้แก่ ตรุษจีนและปีใหม่ บริษัทฯ ได้มอบของชำร่วยเช่น ส้ม
ตรุษจีน ปฏิทิน หรือสมุดบันทึก ฯลฯ ให้ลูกค้า บริษัทฯ เข้าใจว่าการให้ของชำร่วยดังกล่าวบริษัทฯ
ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เนื่องจากเป็นการให้ปกติตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จัดจำหน่ายได้จ่ายเงินอุดหนุน เงินสนับสนุน เงินช่วยเหลือ
เงินส่วนลด หรือเงินอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้แทนจำหน่ายซึ่งซื้อสินค้าเพื่อนำไปขายต่อ
ไม่ว่าเงินดังกล่าวจะคำนวณจากฐานการซื้อขายหรือคำนวณจากฐานอื่นใด เพื่อให้มีผลต่อการขาย การลด
ต้นทุน หรือลดรายจ่าย ของผู้แทนจำหน่าย เข้าลักษณะเป็นการจ่ายรางวัลส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ
เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จัดจำหน่ายจึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่ง
แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544
2. กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าให้แก่ผู้แทนจำหน่ายโดยตกลงว่า หากผู้แทนจำหน่ายชำระหนี้ก่อน
กำหนดจะได้รับส่วนลดเงินสดตามอัตราที่บริษัทฯ กำหนด หากการให้ส่วนลดดังกล่าวเป็นการให้ส่วนลดที่
เป็นปกติตามประเพณีทางการค้า และบริษัทฯ ระบุเงื่อนไขส่วนลดเงินสดไว้ในใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ หรือ
ใบกำกับภาษีให้ชัดเจน ซึ่งบริษัทฯ สามารถเขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือประทับด้วยตรายางก็ได้ การให้
ส่วนลดจึงไม่เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ
เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
3. กรณีบริษัทฯ ได้จ่ายส่วนลดหลังการขายให้ผู้แทนจำหน่ายโดยพิจารณาจากยอดซื้อของ
ผู้แทนจำหน่าย และจ่ายในลักษณะเป็นใบลดหนี้ให้ผู้แทนจำหน่ายนำใบลดหนี้ดังกล่าวมาชำระหนี้ค่าสินค้า
จากบริษัทฯ ในอนาคต บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามวันที่บริษัทฯ ออกใบลดหนี้ให้กับ
ผู้แทนจำหน่าย ซึ่งเป็นวันที่ผู้แทนจำหน่ายได้รับส่วนลดหลังการขายดังกล่าว
4. กรณีบริษัทฯ จ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายให้
แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้บริโภค หรือเป็นผู้ประกอบการที่นำสินค้าหรือบริการไปใช้ในการ
ประกอบกิจการของตนเองโดยตรงโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ บริษัทฯไม่มีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่กรณีบริษัทฯ จ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริม
การขายให้แก่ผู้แทนจำหน่ายซึ่งซื้อสินค้าจากบริษัทฯ เพื่อนำไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเอง บริษัทฯ
ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ
ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ
ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544
5. กรณีบริษัทฯ ได้มอบของชำร่วย เช่น ส้มตรุษจีน ปฏิทิน หรือสมุดบันทึกให้แก่ลูกค้าใน
เทศกาลประเพณีสำคัญ ได้แก่ ตรุษจีน และปีใหม่ ถือเป็นการขายตามมาตรา 77/1(8) แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
เลขตู้: 65/31812


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020