เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/5493
วันที่: 21 มิถุนายน 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินได้จากการจำหน่ายตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange)
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(4)(ก), มาตรา 40(8), มาตรา 50(2)(ค)
ข้อหารือ: 1. บริษัท ก. ออกตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ราคาหน้าตั๋ว 100 บาท โดยขาย
ให้ธนาคารในราคา 90 บาท เนื่องจากธนาคารต้องการนำตั๋วแลกเงินนี้ไปขายต่อให้ได้ราคา ธนาคาร
จึงต้องอาวัลตั๋วและขายต่อในตลาดรอง เมื่อถึงวันครบกำหนด บริษัท ง. ซึ่งเป็นผู้ทรงตั๋วคนสุดท้าย
สามารถนำมาขึ้นเงินกับธนาคารหรือบริษัท ก. ก็ได้ แต่เพื่อความสะดวกกับลูกค้าในการขึ้นเงิน ธนาคาร
จะนำเงินที่เรียกเก็บจากบริษัท ก. มาจ่ายให้บริษัท ง. ธนาคารเข้าใจว่า บริษัท ก. เป็นผู้มีหน้าที่หัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับบริษัท ง. ใช่หรือไม่
2. บริษัท ก. ซื้อสินค้าจากบริษัท ข. ในราคา 100 บาท บริษัท ข. ให้เครดิตทางการค้า
4 เดือน เนื่องจากบริษัท ข. เจ้าหนี้ต้องการได้เงินก่อนจึงให้บริษัท ก. ออกตั๋วแลกเงินให้ในราคา
เท่ากับมูลหนี้คือ 100 บาท เพื่อให้ตั๋วแลกเงินสามารถขายในตลาดได้บริษัท ข. จึงนำตั๋วแลกเงินนี้ให้
ธนาคารอาวัล เมื่อธนาคารอาวัลแล้วบริษัท ข. จะนำตั๋วแลกเงินนี้ไปขายลดในตลาดได้ในราคา 95
บาท สมาคมฯ เข้าใจว่ากรณีนี้ไม่มีส่วนต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินครั้งแรก เพราะ
บริษัท ก. ออกตั๋วแลกเงินให้บริษัท ข. ด้วยราคาเท่ากับมูลหนี้ ส่วนบริษัท ข. ขายต่อให้ตลาดรองโดยมี
ส่วนลด สมาคมฯ เห็นว่า ส่วนลดดังกล่าวนี้ไม่เป็นส่วนต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงิน
ครั้งแรก
3. การไถ่ถอนตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้ออก ผู้ทรงตั๋วแลกเงินคนสุดท้าย สามารถไถ่ถอนกับ
ธนาคารผู้เป็นคู่สัญญากับธนาคารผู้ออกตั๋วโดยผ่านระบบ Clearing ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ตัวอย่างเช่น ธนาคาร ก. ออกตั๋วโดยมีส่วนลดครั้งแรก 10 บาท บริษัท ค. ผู้ทรงคนสุดท้ายซื้อ
ตั๋วแลกเงินใบนี้โดยมีส่วนลดเพียง 2 บาท เมื่อถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน บริษัท ค. นำตั๋วไปไถ่ถอนกับ
ธนาคาร ง. ซึ่งเป็นคู่สัญญากับธนาคาร ก. ผ่านระบบ Clearing ธนาคาร ง. จะจ่ายเงินให้บริษัท
ค. ในราคาหน้าตั๋วโดยไม่มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ เพราะธนาคาร ง. จะไม่ทราบส่วนลด
ครั้งแรกของตั๋วแลกเงินใบนี้และธนาคาร ง.ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนี้ ธนาคาร ก.
จะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอย่างไร นอกจากนี้ กรณีมีการทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งธนาคารได้
เรียกเก็บค่าอากรแสตมป์จากบริษัท ก. ค่าอากรแสตมป์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจะถือเป็นส่วนหนึ่ง
ของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ และบริษัท ก. มีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่
4. บริษัท ก. ได้ออกตั๋วแลกเงินราคาตามหน้าตั๋ว 100 บาท โดยขายให้ธนาคารในราคา
90 บาท ส่วนต่างของราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินครั้งแรกเท่ากับ 10 บาท ธนาคารขาย
ตั๋วแลกเงินต่อให้บุคคลธรรมดาในราคา 92 บาท โดยธนาคารได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ 15% จาก
ส่วนต่างครั้งแรก 10 บาท ต่อมาบุคคลธรรมดาขายตั๋วแลกเงินต่อให้บริษัท ค. ในราคา 98 บาท และ
บริษัท ค. ถือตั๋วแลกเงินจนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน สมาคมฯ หารือว่า นิติบุคคลผู้ทรงตราสารคนสุดท้าย
(บริษัท ค.) ยังคงต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่าย
ตั๋วเงินครั้งแรกอีกหรือไม่
5. การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในวันที่ผู้ทรงตั๋วแลกเงินมาไถ่ถอนทำให้ผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย แสดงยอดรายได้ในบัญชีไม่ตรงกับยอดรายได้ที่แสดงในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
ตัวอย่างเช่น บริษัท ค. ซื้อตั๋วแลกเงินจากตลาดรองในราคา 98 บาท แต่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
จากยอด 10 บาท โดยผู้ออกตั๋วยืนยันว่าเงิน 10 บาท นี้คือส่วนต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคา
จำหน่ายตั๋วเงินครั้งแรก ดังนั้น บริษัท ค. แสดงยอดรายได้ในบัญชีด้วยราคา 2 บาท ขณะที่รายได้ใน
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแสดงด้วยยอด 10 บาท สมาคมฯ หารือว่า บริษัท ค. ถูกหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากเงินได้พึงประเมินซึ่งไม่ตรงกับรายได้ที่ได้รับจริงทางบัญชี เมื่อบริษัท ค. ถูก
ตรวจสอบจะก่อให้เกิดปัญหาระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบกับบริษัทหรือไม่ ถ้ามีโปรดแนะนำข้อปฏิบัติที่จะ
ทำให้ไม่เกิดปัญหาดังกล่าว
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตาม 1. บริษัท ก. เป็นผู้ออกตั๋วแลกเงิน เมื่อตั๋วแลกเงินครบกำหนดไถ่ถอน บริษัท
ง. นำตั๋วแลกเงินมาเรียกเก็บจากธนาคารและธนาคารนำเงินที่เรียกเก็บจากบริษัท ก. มาจ่ายให้แก่
บริษัท ง. ถือเป็นการกระทำแทนบริษัท ก. ผู้ออกตั๋ว บริษัท ก. จึงเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่บริษัท ง. ตามข้อ 4(3) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.
4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.106/2545 ฯ ลงวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2545
2. กรณีตาม 2. บริษัท ก. ออกตั๋วแลกเงินให้บริษัท ข. มูลค่า 100 บาท เพื่อชำระหนี้ค่า
ซื้อสินค้าจากบริษัท ข. แล้วบริษัท ข. นำตั๋วแลกเงินไปขายลดในตลาดในราคา 95 บาท ส่วนต่าง
จำนวน 5 บาท ที่บริษัท ข. ได้รับจากการขายลดตั๋วแลกเงิน ไม่ถือเป็นผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับ
ราคาจำหน่ายตั๋วเงินที่บริษัทเป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน ตามมาตรา
40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีตาม 3. การไถ่ถอนตั๋วแลกเงินผ่านระบบ Clearing นั้น ถือว่า ธนาคารผู้ออกตั๋ว
เป็นผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และออกหนังสือรับรองการหักภาษี
ณ ที่จ่าย ในวันที่มีการขึ้นเงินตามตั๋วแลกเงินนั้น ๆ คือ วันที่ได้มีการ Clearing ตั๋วแลกเงินเพื่อจ่าย
เงินให้บริษัท ค. สำหรับกรณีที่มีการทำสัญญาค้ำประกันและธนาคารเรียกเก็บเงินค่าอากรแสตมป์จาก
คู่สัญญา ธนาคารในฐานะผู้ค้ำประกันมีหน้าที่ต้องเสียอากรตามลักษณะแห่งตราสาร 17. ของ
บัญชีอัตราอากรแสตมป์ เมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินค่าอากรแสตมป์ของลูกค้า ถือว่าเงินค่าอากรแสตมป์
เป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าที่ได้รับจากการให้บริการค้ำประกัน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)
แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากลูกค้าของธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
หรือนิติบุคคลอื่น ลูกค้าของธนาคารมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ
12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไข
เพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544
4. กรณีตาม 4. การขายลดตั๋วแลกเงินของบริษัท ก. ให้บุคคลธรรมดานั้น บุคคลธรรมดา
ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15.0 ของผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่าย
ตั๋วเงินครั้งแรกตามมาตรา 50(2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร หากต่อมาบุคคลธรรมดาขายตั๋วแลกเงินให้
แก่บริษัท ค. และบริษัท ค. ถือตั๋วแลกเงินจนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนแล้วนำไปไถ่ถอนกับบริษัท ก.
บริษัท ก. ผู้ออกตั๋วยังคงต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากบริษัท ค. ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามข้อ
4(3) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไข
เพิ่มเติมโดย ท.ป.106/2545 ฯ ลงวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2545
5. กรณีที่ผู้ทรงตั๋วแลกเงินคนสุดท้ายซึ่งเป็นผู้ไถ่ถอนตั๋วแลกเงินมียอดรายได้ที่ได้รับจากการ
ไถ่ถอนไม่ตรงกับยอดรายได้ที่แสดงในหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเนื่องจากยอดรายได้ที่
แสดงไว้ในหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เป็นยอดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องหักไว้มิใช่ยอด
รายได้จริงที่ผู้ทรงตั๋วแลกเงินได้รับ แต่ยอดรายได้ที่ผู้ทรงตั๋วแลกเงินได้รับจากการไถ่ถอนตั๋วเป็นยอด
รายได้จริงที่เกิดจากการประกอบกิจการ หากผู้ทรงตั๋วแลกเงินดังกล่าวมีหลักฐานแสดงได้โดยชัดเจนว่า
ยอดรายได้ที่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เป็นยอดจากผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงิน
แม้ยอดรายได้ทั้งสองจำนวนจะไม่ตรงกันก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากการฝ่าฝืนบทบัญญัติของ
กฎหมายแต่อย่างใด และจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการตรวจสอบ หากว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่
กฎหมายกำหนดไว้
เลขตู้: 65/31575


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020