เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/5698
วันที่: 26 มิถุนายน 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีแหล่งเงินได้ ตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 41
ข้อหารือ: บริษัท น. ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท A ณ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (ไม่มีสำนักงานใน
ประเทศไทย) และบริษัท A ได้ทำสัญญาร่วมค้ากับ B เพื่อประกอบกิจการตั้งโรงงานผลิตและจำหน่าย
น้ำตาลทรายในประเทศจีน ตามสัญญาร่วมทุน เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2536
วันที่ 16 กันยายน 2536 ผู้อุทธรณ์เข้าทำงานเป็นพนักงานประจำในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่
บริหารประจำสาขาประเทศจีน ให้กับบริษัท น. ต่อมาได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของบริษัท น.
ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2538 และวันที่ 1 มกราคม 2539 ผู้อุทธรณ์ได้เข้าทำงานเป็นพนักงานประจำ
ในบริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศ ในตำแหน่งรองผู้จัดการฝ่ายขายประจำสาขาในประเทศจีน โดย
ได้รับเงินเดือนเป็นรายเดือน เดือนละ 73,346 บาท บริษัท น. และบริษัท A ได้ทำบันทึกข้อตกลงให้
บริษัท น. สำรองจ่ายค่าจ้างและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองบริษัท ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
ในกิจการของสาขาของบริษัท A ในประเทศจีนไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บไปยังบริษัท A ในภายหลัง ในปี
2540 ผู้อุทธรณ์มีเงินได้เป็นจำนวนเงิน 868,153 บาท บริษัท น. ได้สำรองจ่ายเงินเดือนของผู้อุทธรณ์
แทนบริษัท A ตามข้อตกลงข้างต้น โดยโอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีธนาคาร โดยการสำรองจ่ายค่าจ้างผ่าน
ระบบ Pay Roll บริษัท น. จึงต้องรายงานค่าจ้างในแบบ ภ.ง.ด. 1 , ภ.ง.ด. 1 ก และได้ยื่น
แบบแสดง รายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) แต่มิได้ชำระภาษีไว้เนื่องจากผู้อุทธรณ์
อยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน จึงถูกประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวข้างต้น ซึ่ง
เจ้าพนักงานประเมินชี้แจงว่า เงินได้พึงประเมินที่ผู้อุทธรณ์ได้รับเป็นเงินได้เนื่องจากกิจการของนายจ้าง
ในประเทศไทยและจ่ายเงินได้ในประเทศไทย
แนววินิจฉัย: บริษัท A นายจ้างในต่างประเทศเป็นผู้จ่ายเงินเดือนซึ่งเป็นเงินตามมาตรา 40(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ให้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงานในต่างประเทศโดยตรง โดยบริษัท น. เป็นผู้สำรองจ่ายก่อน
แล้วจึงเรียกเก็บไปยังบริษัท A ตามข้อตกลง กรณีจึงเป็นเงินได้เนื่องจากกิจการที่ทำในต่างประเทศของ
นายจ้างในต่างประเทศ ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินที่อยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าเงินได้ดังกล่าวจะจ่าย
ในหรือจ่ายนอกประเทศ ดังนั้น บริษัท น. ซึ่งเป็นผู้สำรองจ่ายเงินเดือนของผู้อุทธรณ์ จึงไม่ถือเป็น
ผู้จ่ายเงินได้และไม่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร และการที่ผู้อุทธรณ์มีเงินได้พึงประเมินประเภทเงินเดือนตามมาตรา 40 แห่ง
ประมวลรัษฎากร เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ โดยบริษัท น. ในประเทศไทย ได้สำรองจ่าย
แทนนายจ้างในต่างประเทศโดยเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้อุทธรณ์ในประเทศไทย ถือได้ว่าได้นำ
เงินได้พึงประเมินดังกล่าวนั้นเข้ามาในประเทศไทยแล้ว แต่ผู้อุทธรณ์มิได้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน
ในปีภาษี 2540 จึงไม่ถือว่าผู้อุทธรณ์เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ใน
ประเทศไทย ตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 65/31698


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020