เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./5818
วันที่: 28 มิถุนายน 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประเมินภาษีเนื่องจากการนำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้ในการเครดิตภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 89(7)
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคหารือแนวทางปฏิบัติกรณีการประเมินภาษีเนื่องจากการนำ
ใบกำกับภาษีปลอมไปใช้ในการเครดิตภาษี รายบริษัท เอ็น.บี.เอ็ม.ขนส่ง จำกัด ซึ่งมีข้อเท็จจริงดังนี้
1. บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 เดือนภาษีมกราคม 2540 ถึงเดือนภาษีเมษายน 2542 โดยนำ
ใบกำกับภาษีปลอมไปลงรายงานภาษีซื้อและยื่นแบบ ภ.พ.30 ด้วย ซึ่งในบางเดือนยอดซื้อตาม
รายงานภาษีซื้อและยอดซื้อตามแบบ ภ.พ.30 มีจำนวนเท่ากัน แต่บางเดือนยอดซื้อตามรายงานภาษีซื้อไม่
เท่ากับยอดซื้อตามแบบ ภ.พ.30
2. ในการตรวจปฏิบัติการ เจ้าพนักงานประเมินยึดใบกำกับภาษีปลอมจำนวน 112 ฉบับ และ
นำไปเปรียบเทียบกับรายงานภาษีซื้อและแบบ ภ.พ.30 เพื่อประเมินภาษี และเบี้ยปรับตามมาตรา
89(4) และมาตรา 89(7) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีปัญหาในการคำนวณเบี้ยปรับตามมาตรา 89(7)
แห่งประมวลรัษฎากรในบางเดือน เนื่องจากยอดซื้อในรายงานภาษีซื้อและยอดซื้อในแบบ ภ.พ.30 มี
จำนวนไม่เท่ากัน และไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นยอดซื้อตามใบกำกับภาษีปลอมจำนวนเท่าใด ตัวอย่างเช่น
2.1 เดือนภาษีสิงหาคม 2540 มีใบกำกับภาษีปลอมจำนวน 12 ฉบับ มูลค่าสินค้ารวม
800,040.00 บาท ซึ่งลงรายการในรายงานภาษีซื้อรวมกับภาษีซื้ออื่นๆ เป็นยอดซื้อรวมทั้งสิ้นจำนวน
4,433,020.61 บาท แต่บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงยอดซื้อเพียง 4,008,731.70 บาท ผล
ต่างระหว่างรายงานภาษีซื้อและแบบ ภ.พ.30 จำนวน 424,288.91 บาท ซึ่งในการคำนวณเบี้ยปรับ
ตามมาตรา 89(7) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินได้นำผลต่างจำนวน 424,288.91 บาท
ไปหักออกจากยอดซื้อตามใบกำกับภาษีปลอมจำนวน 800,040.00 บาท แล้วนำผลลัพธ์จำนวน
375,751.09 บาท เป็นฐานภาษีในการคำนวณเบี้ยปรับสองเท่า
2.2 เดือนภาษีธันวาคม 2540 มีใบกำกับภาษีปลอมจำนวน 8 ฉบับ มูลค่าสินค้ารวม
420,020.00 บาท ซึ่งลงรายการในรายงานภาษีซื้อรวมกับภาษีซื้ออื่นๆ เป็นยอดซื้อ รวมทั้งสิ้นจำนวน
2,690,166.49 บาท แต่บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงยอดซื้อเพียง 2,672,166.49 บาท ผล
ต่างระหว่างรายงานภาษีซื้อและแบบ ภ.พ.30 จำนวน 18,000.00 บาท ซึ่งในการคำนวณเบี้ยปรับตาม
มาตรา 89(7) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินได้นำผลต่างจำนวน 18,000.00 บาท ไป
หักออกจากยอดซื้อตามใบกำกับภาษีปลอมจำนวน 420,020.00 บาท แล้วนำผลลัพธ์จำนวน
402,020.00 บาท เป็นฐานภาษีในการคำนวณเบี้ยปรับสองเท่า
2.3 เดือนภาษีมกราคม 2541 มีใบกำกับภาษีปลอมจำนวน 3 ฉบับ มูลค่าสินค้ารวม
250,040.00 บาท ซึ่งลงรายการในรายงานภาษีซื้อรวมกับภาษีซื้ออื่น ๆ เป็นยอดซื้อรวมทั้งสิ้นจำนวน
1,876,060.58 บาท แต่บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงยอดซื้อเพียง 1,865,220.58 บาท ผล
ต่างระหว่างรายงานภาษีซื้อและแบบ ภ.พ.30 จำนวน 10,840.00 บาท ซึ่งในการคำนวณเบี้ยปรับตาม
มาตรา 89(7) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินได้นำผลต่างจำนวน 10,840.00 บาท ไป
หักออกจากยอดซื้อตามใบกำกับภาษีปลอมจำนวน 250,040.00 บาท แล้วนำผลลัพธ์จำนวน
239,200.00 บาท เป็นฐานภาษีในการคำนวณเบี้ยปรับสองเท่า
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงยอดซื้อไม่ตรงกับยอดซื้อในรายงานภาษีซื้อ ซึ่งยอดซื้อใน
รายงานภาษีซื้อนั้นได้รวมยอดซื้อตามใบกำกับภาษีปลอมด้วย เมื่อบริษัทฯ ไม่สามารถแยกได้ว่ายอดซื้อใน
แบบ ภ.พ.30 เป็นยอดซื้อตามใบกำกับภาษีปลอมเป็นจำนวนเท่าใด จึงไม่สามารถพิสูจน์ต่อ
เจ้าพนักงานประเมินได้ว่า ยอดซื้อตามแบบ ภ.พ.30 มิใช่ยอดซื้อตามใบกำกับภาษีปลอม ดังนั้น บริษัทฯ
จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีปลอมที่บริษัทฯ ได้ลงรายการใน
รายงานภาษีซื้อ ตามมาตรา 89(7) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 65/31767


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020