เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/3718
วันที่: 14 พฤษภาคม 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีชำระเงินค่าซอฟแวร์ไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70
ข้อหารือ: 1. บริษัท A. เป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศอินเดีย และไม่มี
สำนักงานสาขาหรือตัวแทนในประเทศไทย ได้ขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ "PROMIS" Software ให้แก่
บริษัท B. ในประเทศไทย โดยมีรายละเอียดและราคาปรากฏตามใบสั่งซื้อและหนังสือของ B. ที่
DMS01-L056 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2544 ดังนี้
1.1 รายการ 60: Special Lan Price for บริษัท B. MV Div. (USD
22,500.-) โดยพื้นฐานเป็น Software มาตรฐานเพื่อการเขียนแบบวงจรควบคุมทางไฟฟ้า ซึ่งทาง
บริษัท B. ได้ขอให้มีการปรับเพิ่มความสามารถบางประการของโปรแกรม (ตามรายการที่ 90) เพื่อให้
สนองความต้องการจำเพาะของ บริษัท B. เช่น การสร้าง Graphical Terminal Plan เป็นต้น
1.2 รายการ 70: Promis Programming Language (PPL) (USD 1,000.-)
PPL เป็น In-house programming language ของ บริษัท B. ถือเป็น Software ตัวหนึ่งซึ่ง
พัฒนาขึ้นเพื่อการทำ Customization program ตามความต้องการจำเพาะบางอย่างที่ไม่รวมอยู่ใน
Software มาตรฐาน
1.3 รายการ 80 : Installation and Training Charges (USD 1,145.-)
ทาง บริษัท A.ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาติดตั้งและฝึกอบรมให้แก่พนักงานบริษัท B. ในขณะนี้บริษัท A.
ยังไม่มีตัวแทนอยู่ในประเทศไทย
1.4 รายการ 90 : Customization Charges (USD 7,100.-) เป็นการปรับใน
ตัว Software พื้นฐาน โดยทำสำเร็จจากประเทศอินเดีย มีการปรับแก้ภายหลังเพียงเล็กน้อย
1.5 รายการ 100 : Software Update and Hotline Support Contract
(SUHLSC) = AMC (USD 4,950.-) เป็นการรองรับการ Update โปรแกรมที่อาจมีในโอกาสต่อไป
AMC ไม่ได้เป็น Software
2. บริษัท B. ผู้ซื้อได้โอนเงินชำระค่าซอฟต์แวร์ให้แก่ บริษัท A. พร้อมหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้
ในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 40(3) ประกอบกับมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่ง
ภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และขอให้กรมสรรพากรออกหนังสือรับรองการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายฉบับภาษา
อังกฤษ เพื่อเป็นหลักฐานส่งให้แก่ บริษัท A.ซึ่งสำนักงานสรรพากรภาค 5 ได้ออกหนังสือรับรองฯ ฉบับ
ภาษาอังกฤษให้แก่ บริษัท B. แล้ว
3. บริษัท A. โต้แย้งว่าค่าซอฟต์แวร์ที่ตนได้รับจากบริษัทผู้ซื้อไม่สามารถถือเป็นค่าสิทธิได้ทั้ง
จำนวน และไม่อยู่ในบังคับตามข้อ 12 และข้อ 7 แห่งอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐ
อินเดียเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจาก
เงินได้ (อนุสัญญาฯ) จึงขอหารือเกี่ยวกับปัญหาการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามอนุสัญญาฯ กรณีการได้
รับชำระค่าซอฟต์แวร์จากบริษัทผู้ซื้อในประเทศไทยดังต่อไปนี้
3.1 กรณีที่ บริษัท B. ผู้ซื้อได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของเงินค่า
Software ที่ชำระให้แก่ บริษัท A.นั้น ได้กระทำตามข้อบทใดแห่งอนุสัญญาฯ
3.2 กรณีหาก บริษัท A.ไม่มีภาระทางภาษีหรือไม่มีภาษีเงินได้ที่จะต้องชำระให้แก่รัฐบาล
อินเดีย สำหรับปี 2544-2545 แล้ว ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ชำระไว้เกินจะมีการแก้ไข หรือ บริษัท
A. จะขอคืนเงินภาษีที่ถูกหักไว้ดังกล่าวได้อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. ค่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) เข้าลักษณะเป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์ที่จัดเป็น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ถือเป็นงาน
วรรณกรรมตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ดังนั้น ค่าตอบแทนในการใช้โปรแกรม
"PROMIS" Software ซึ่งรวมถึงค่าติดตั้งและค่าฝึกอบรมวิธีการใช้โปรแกรม ค่าปรับแต่งโปรแกรมตาม
ความต้องการของลูกค้า การทำ Update โปรแกรม และค่าปรึกษาแนะนำสายด่วนทางโทรสารหรือ
โทรศัพท์ จึงเข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนการใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม ซึ่งถือเป็นค่าสิทธิ
(Royalties) ตามข้อ 12 แห่งอนุสัญญาฯ เมื่อ บริษัท B. จ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวให้แก่ บริษัท A.
ซึ่งไม่มีสำนักงานสาขาหรือตัวแทนในประเทศไทย อันจะถือได้ว่าเป็นสถานประกอบการถาวรของตนแล้ว
บริษัท B. จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่ง
ประมวลรัษฎากร และข้อ 12 วรรค 2 แห่งอนุสัญญาฯ ซึ่งหาก บริษัท B. ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าว
ไว้ถูกต้องแล้ว บริษัท A. ก็ไม่มีสิทธิขอคืนภาษีจากประเทศไทย แต่อย่างใด
2. กรณีตาม 3.2 เมื่อรัฐบาลไทยมีสิทธิเรียกเก็บภาษีโดยชอบตามข้อ 12 วรรค 2 แห่ง
อนุสัญญาฯ ประกอบกับมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และ บริษัท B. ได้หักภาษีเงินได้จาก
ค่าตอบแทนดังกล่าว และนำส่งโดยถูกต้องแล้ว แม้ว่าบริษัท A. จะไม่มีภาระภาษีหรือไม่มีภาษีเงินได้ที่
ต้องชำระให้แก่รัฐบาลอินเดีย สำหรับปี 2544-2545 ก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิขอคืนเงินภาษีดังกล่าวจาก
ประเทศไทยแต่อย่างใด ส่วนภาษีที่ บริษัท A. ถูก บริษัท B. หักไว้ในประเทศไทย จะถือเป็นเครดิตต่อ
ภาษีอินเดียของ บริษัท A. ในประเทศอินเดียหรือไม่ อย่างไร มิใช่ประเด็นที่กรมสรรพากรแห่งรัฐบาล
ไทยจะต้องพิจารณา
เลขตู้: 65/31412


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020