เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/2024
วันที่: 7 มีนาคม 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีปัญหาในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรเพื่อนำสินค้ากลับเข้ามาในราชอาณาจักร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(8)(ค), มาตรา 77/1(14), มาตรา 81(2)(ค)
ข้อหารือ: สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ ได้มีหนังสือหารือกรมศุลกากร โดยขอยกเว้นอากรใน
ลักษณะผ่อนผันใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามา เนื่องจากขณะส่งออก บริษัทซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ได้ยื่น
คำขอจัดทำใบขนสินค้าขาออกพร้อมคู่ฉบับ จำนวน 2 ชุด (ใบขนสินค้าขาออกมุมน้ำเงิน) เพื่อประโยชน์
ในการขอชดเชยค่าภาษีอากรและขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร แต่เมื่อสินค้าที่ส่งออกไปนั้นถูกส่ง
กลับคืนเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งกรมศุลกากรเห็นว่า ควรมีการตรวจสอบการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ดังกล่าวกับกรมสรรพากรก่อนที่จะผ่อนผันใบสุทธิสำหรับนำกลับให้กับบริษัท บริษัทได้ชี้แจงว่าคู่ฉบับ
ใบขนสินค้าขาออกมีประโยชน์เป็นเพียงเอกสารประกอบรายงานต่อกรมสรรพากรเท่านั้น กรมสรรพากร
มิได้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ส่งออกจากคู่ฉบับใบขนสินค้าขาออกแต่อย่างใด การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น
กรมสรรพากรพิจารณาจากรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และใบกำกับภาษี โดยมิได้คำนวณคืนจาก
ใบขนสินค้าขาออก จึงไม่จำเป็นที่กรมศุลกากรจะต้องตรวจสอบไปยังกรมสรรพากรในกรณีดังกล่าว
กรมศุลกากรหารือว่า ในขณะส่งออกสินค้านั้น บริษัทได้ยื่นขอเพิ่มคู่ฉบับใบขนสินค้าขาออก (มุม
น้ำเงิน) เพื่อประโยชน์ในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ แต่หากของดังกล่าวได้ถูกส่งกลับคืนมาแล้ว
กรมศุลกากรมีความจำเป็นต้องตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีมูลค่าเพิ่มจากคู่ฉบับ
ใบขนสินค้าขาออกมุมน้ำเงินจากกรมสรรพากรก่อนทุกครั้งหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่อง ประดับส่งออก
อัญมณีและเครื่องประดับไปต่างประเทศ โดยบริษัทได้ยื่นใบขนสินค้าขาออกและขอเพิ่มคู่ฉบับใบขนสินค้า
ขาออก (มุมน้ำเงิน) เพื่อประโยชน์ในการขอชดเชยค่าภาษีอากรและขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็น
การขายสินค้าโดยส่งออก ตามมาตรา 77/1(8)(ค) และมาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่ง
บริษัทจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1)แห่งประมวลรัษฎากร
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทถูกเรียกเก็บเนื่องจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการเพื่อใช้ในการประกอบกิจการ
ของตน ย่อมเป็นภาษีซื้อของบริษัท ตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทมีสิทธินำมาหักใน
การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้ แต่ภาษีซื้อดังกล่าวต้องไม่เข้า
ลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ โดยขณะส่งออกได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางด้าน
ภาษีอากร กล่าวคือ ได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากร และในขณะส่งออกบริษัทมิได้ทำใบสุทธินำกลับเข้ามา
ต่อมาสินค้าดังกล่าวถูกส่งกลับเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งบริษัทต้องยื่นคำร้องขอรับการผ่อนผันใบสุทธิ
สำหรับนำสินค้ากลับเข้ามาเพื่อให้บริษัทได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยบริษัทต้อง
คืนเงินชดเชยตามจำนวนที่ได้รับขณะส่งออกให้แก่ กรมศุลกากรตามความในหมายเหตุของประเภทที่ 1
ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ประกอบกับข้อ 4 03 01 01 (3)(3.3)
(3.3.1)(ข) แห่งประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2544 ดังนั้น เมื่อสินค้าที่นำกลับเข้ามานั้นเข้า
ลักษณะเป็นสินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วย
พิกัดอัตราศุลกากร จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทจึง
ไม่มีหน้าที่ต้องลงรายการในรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87(2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่มีหน้าที่ต้องลง
รายการในรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 9 ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89)ฯ ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542
3. กรมศุลกากรสามารถพิจารณาเพื่ออนุมัติหรือไม่อนุมัติผ่อนผันใบสุทธิสำหรับการนำกลับเข้า
มาของสินค้าที่ได้ส่งออกไป โดยไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบจากกรมสรรพากรก่อนการพิจารณาว่า
บริษัทได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่ส่งออกแล้วหรือไม่แต่ประการใด
เลขตู้: 65/31291


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020