เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/1971
วันที่: 5 มีนาคม 2545
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 69 ทวิ และมาตรา 69 ตรี
ข้อหารือ: กรมที่ดินได้รับข้อหารือจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรณีการทางพิเศษฯ ได้เวนคืน
อสังหาริมทรัพย์ของผู้ถูกเวนคืนซึ่งเป็นนิติบุคคล การทางพิเศษฯ จะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา
ร้อยละ 1 ของจำนวนเงินค่าทดแทนที่จ่ายไปก่อน จากนั้นจะทำการรังวัดเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ใน
ที่ดิน และเมื่อทราบจำนวนเนื้อที่ดินที่จะเวนคืนเป็นที่แน่นอนแล้วก็จะนำเอกสารสิทธิ์ในที่ดินและภาษีหัก ณ
ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนเงินค่าทดแทนทั้งหมดนำส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิ
และนิติกรรมในฐานะเจ้าพนักงานประเมิน การทางพิเศษฯ จึงหารือว่า
1. การทางพิเศษฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งในอัตราร้อยละ 1 ของ
จำนวนเงินค่าทดแทนที่จ่ายให้ผู้ถูกเวนคืนซึ่งเป็นนิติบุคคลโดยตรงต่อกรมสรรพากร โดยไม่มีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งในอัตราร้อยละ 1 ในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามมาตรา
69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
2. หากต้องปฏิบัติตามข้อ 1. กรณีมีภาษีเงินได้ที่หัก ณ ที่จ่าย ไว้บางส่วน และอยู่ระหว่างรอ
ผลการรังวัดเพื่อให้ทราบจำนวนเนื้อที่ดินและจำนวนเงินค่าทดแทนที่แน่นอน การทางพิเศษฯ จะต้องนำส่ง
กรมสรรพากรด้วยหรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อ 1 และข้อ 2 การทางพิเศษฯ มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และ
นำส่งในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนเงินค่าทดแทนที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ แห่ง
ประมวลรัษฎากร โดยให้นำส่งภาษี ณ ที่ว่าการอำเภอภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน
ค่าทดแทนดังกล่าว ตามข้อ 2(4) ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่ง
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.
2535 การทางพิเศษฯ ไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 แล้วนำส่ง
พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตาม
มาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
เลขตู้: 65/31286

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020