เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./1958
วันที่: 5 มีนาคม 2545
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542
ข้อกฎหมาย: มาตรา 79/2(1), มาตรา 83/8, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 20)
ข้อหารือ: กรมศุลกากรได้มีหนังสือหารือกรมสรรพากร กรณีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม
พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 ดังนี้
1. อากรชั่วคราว อากรตอบโต้การทุ่มตลาดและอากรตอบโต้การอุดหนุนตามมาตรา 41
มาตรา 49 และมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจาก
ต่างประเทศ พ.ศ. 2542 ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน พิจารณาและประกาศ
กำหนดให้กรมศุลกากรเรียกเก็บในอัตราร้อยละของราคา ซี.ไอ.เอฟ. (CIF) หรือตามสภาพจากสินค้า
นำเข้าที่ถูกพิจารณาพร้อมกับชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร จะต้องนำมารวมคำนวณเป็น
ฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้าตามมาตรา 79/2 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
2. หากอากรชั่วคราว อากรตอบโต้การทุ่มตลาดและอากรตอบโต้การอุดหนุนตามข้อ 1. ต้อง
นำมารวมคำนวณเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้า ตามประมวลรัษฎากร เมื่อมีการ
วางหลักประกันอากรตามมาตรา 31 หรือวางหลักประกันการชำระอากรชั่วคราวตามมาตรา 41 ตาม
คำสั่งคณะกรรมการฯ แล้ว กรมศุลกากรมีอำนาจที่จะวางหลักประกันเพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มแทน
การชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยวางรวมกับการวางหลักประกันอากรหรือวางหลักประกันการชำระอากร
ชั่วคราวได้หรือไม่ หรือจะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสดพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตาม
กฎหมายว่าด้วยศุลกากร โดยนำจำนวนเงินที่วางหลักประกันตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาด
และการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 มารวมเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
แนววินิจฉัย: 1. อากรชั่วคราว อากรตอบโต้การทุ่มตลาดและอากรตอบโต้การอุดหนุนตามพระราชบัญญัติ
การตอบโต้การทุ่มตลาดและอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 ตามข้อเท็จจริงเข้าลักษณะ
เป็นอากรขาเข้าที่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม
มาตรา 79/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ผู้นำเข้าจะวางเงินประกัน หลักประกัน เพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มแทนการชำระภาษี
ได้ เฉพาะกรณีการนำเข้าสินค้าเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือการนำเข้า
เครื่องจักรหรือการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกของผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตาม
กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้ ตามมาตรา 83/8 วรรคสอง และวรรคสาม แห่ง
ประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 20) เรื่อง กำหนด
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการวางประกันและการถอนประกันภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/8 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534
เลขตู้: 65/31281

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020