เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./6970
วันที่: 7 กันยายน 2561
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการเฉลี่ยภาษีซื้อ ราย บริษัท ซีคอน บางแค จำกัด
ข้อกฎหมาย : ข้อ 2 (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2535
ข้อหารือ           1.บริษัท ก. จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2533
          2. บริษัทฯ มีรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 ประกอบกิจการเกี่ยวกับการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทศูนย์การค้า ให้เช่าพื้นที่และ/หรือให้บริการระบบสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมาและปรับปรุงภาษีซื้อให้เป็นไปตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงทั้งปีของกิจการทั้งสองประเภท ตามข้อ 2 (2) และข้อ 2 (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
          3. สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 บริษัทฯ เฉลี่ยภาษีซื้อ ดังนี้
          ม.ค. 2558 – ธ.ค. 2558 รายได้จากกิจการ
          VAT         รายได้จากกิจการ         Non-VAT               VAT Total
          รายได้     534,444,138.12    93,564,073.65    628,008,211.77
          ร้อยละ          85.10                     14.90                        100.00
          เห็นได้ว่า บริษัทฯ เฉลี่ยภาษีซื้อตามอัตราส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริง (534,444,138.12 * 1,204,322.29/ 628,008,211.77 = 1,024,895.81 บาท แต่จากการคำนวณเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของกิจการของรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 เท่ากับ 1,051,641.06 บาท ดังนั้น การคำนวณเฉลี่ยภาษีซื้อตามวิธีการดังกล่าวในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2558 จึงน้อยกว่ารอบระยะเวลาบัญชีปี 2557 ซึ่งบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30.2 เพื่อปรับปรุงเฉลี่ยภาษีซื้อจำนวน 26,745.25 บาทเนื่องจากการเปลี่ยนฐานรายได้ในการคำนวณภาษีตามวิธีการดังกล่าว ทำให้อัตราส่วนการเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และในส่วนที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในปี 2557 และปี 2558 ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย คืออัตราส่วน 83.72 : 12.68 และ 85.10 : 14.90 ตามลำดับ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระในการคำนวณภาษีและการยื่นแบบปรับปรุงเฉลี่ยภาษีซื้อ บริษัทฯ จึงได้ขออนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเฉลี่ยภาษีซื้อจากเดิมให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมาและปรับปรุงภาษีซื้อให้เป็นไปตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงทั้งปีของกิจการทั้งสองประเภท เป็นเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา โดยไม่ต้องปรับปรุงภาษีซื้อให้เป็นไปตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงทั้งปีของกิจการทั้งสองประเภท ตามข้อ 2 (2) และข้อ 2 (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2559 เป็นต้นไป
แนววินิจฉัย           กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการและมีรายได้ของปีที่ผ่านมาแล้ว หากมีภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือบริการซึ่งได้นำไปใช้ในกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นภาษีซื้อของกิจการใด ผู้ประกอบการจะต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในข้อ 2 (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 กล่าวคือ ผู้ประกอบการจะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อของสินค้าหรือบริการตามส่วนของรายได้ของแต่ละกิจการ โดยมีสิทธิเลือกเฉลี่ยภาษีซื้อได้ 2 วิธี คือ
          1. เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมาของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และขอคืนภาษีซื้อตามที่ได้เฉลี่ยไว้ โดยไม่ต้องทำการปรับปรุงภาษีซื้อภายหลังอีก
          2. เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมาของกิจการทั้งสองประเภท และเมื่อสิ้นปีให้ผู้ประกอบการทำการปรับปรุงภาษีซื้อให้เป็นไปตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงทั้งปีของกิจการทั้งสองประเภท
          กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเลือกวิธีเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของแต่ละกิจการของปีที่ผ่านมา และปรับปรุงภาษีซื้อให้เป็นไปตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงของกิจการทั้งสองประเภท แต่เนื่องจากการเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของกิจการของรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 มากกว่าการเฉลี่ยภาษีซื้อตามที่เกิดขึ้นจริงในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2558 บริษัทฯ จึงต้องยื่นแบบ ภ.พ.30.2 ปรับปรุงเฉลี่ยภาษีซื้อจำนวน 26,745.25 บาท ซึ่งเห็นได้ชัดว่าอัตราส่วนการเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และในส่วนที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในปี 2557 และปี 2558 ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย คือ อัตราส่วน 83.72 : 12.68 และ 85.10 : 14.90 ตามลำดับ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระในการคำนวณภาษีของบริษัทฯ ในการยื่นแบบปรับปรุงเฉลี่ยภาษีซื้อ จึงเห็นควรอนุมัติให้บริษัทฯ เฉลี่ยภาษีซื้อด้วยวิธีเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา โดยไม่ต้องปรับปรุงภาษีซื้ออีก ตามหลักเกณฑ์ ข้อ 2 (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2559 เป็นต้นไป
เลขตู้: 81/40794

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020