เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/657
วันที่: 22 มกราคม 2553
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการคำนวณภาษีจากเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          นาย ก. ได้รับเงินได้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน 2 ประเภท ได้แก่ เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินที่ จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่นาย ก. ได้คงเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานธนาคาร ท. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว โดยมี บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนาคารทหารไทย จำกัด ที่มีหน้าที่ดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานต่อไป โดยจะขอ รับเงินจากกองทุนดังกล่าวในปี 2553 นาย ก. จึงขอทราบว่า ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใน ปี 2553 นาย ก. มีสิทธิเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย          ธนาคารฯ ได้จ่ายเงินได้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้นาย ก. ดังนี้
          1. เงินเทียบเท่าเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินตอบแทนพิเศษ (เงินบอกกล่าวล่วงหน้า เงินเพิ่มพิเศษตอบแทน ตามอายุงาน และเงินชดเชยสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี) จำนวน 1,305,827 บาท ได้รับเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552
          2. เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 1,224,240.96 บาท ได้รับเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2552 ซึ่งนาย ก. เลือกที่คงไว้ ในกองทุนฯ ต่อไป โดยจะขอรับเงินดังกล่าวจากกองทุนฯ ในปี 2553
          ดังนั้น กรณีนาย ก. ได้รับได้รับเงินเทียบเท่าเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินตอบแทนเพราะเหตุออกจากงาน ในปี 2552 และต่อมาจะรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกในปี 2553 ถือเป็นกรณีที่มีการจ่ายเงินจากผู้จ่ายรายเดียวกันหลายครั้ง ไม่ว่าจะแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2553 นาย ก. ไม่มีสิทธินำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(5) แห่ง ประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(ข) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุ ออกจากงานตามมาตรา 48(5) และ 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ดังนั้น นาย ก. จึงต้องนำเงินที่ได้ รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปี 2553 มารวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นที่ได้รับในระหว่างปีภาษี เพื่อยื่นแบบแสดง รายการและชำระภาษี ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 73/37112

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020