เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/1967
วันที่: 12 มีนาคม 2553
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากการให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ มีลูกความรายหนึ่งชื่อ บริษัท ฮ (บริษัทฯ) จดทะเบียนนิติบุคคล เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2551 และเป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์แบบลีสซิ่ง โดยบริษัทฯ เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ที่ให้เช่า ผู้เช่าเป็นนิติบุคคล และมีกำหนดเวลาการเช่า 3 ปีขึ้นไป เมื่อลูกค้าชำระค่าเช่าให้แก่บริษัทฯ ผู้เช่ามิได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 เนื่องจาก เป็นการให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง โดยผู้เช่าจะลงนามในสัญญาเช่าฉบับมาตรฐานของบริษัทฯ แต่ สัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดว่า บริษัทฯ ให้คำมั่นว่าเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดผู้เช่ามีสิทธิเลือกที่จะซื้อทรัพย์สินหรือส่งคืนทรัพย์สินให้แก่ บริษัทฯ ตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ต่อมากรมสรรพากรได้มีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.176/2552 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552 บริษัทฯ ประสงค์ที่จะปฏิบัติตาม โดยจะทำหนังสือแจ้งไปยังผู้เช่าทุกรายของบริษัทฯ ตกลงให้คำมั่นแก่ผู้เช่า เมื่อสิ้นสุดสัญญา เช่าผู้เช่ามีสิทธิเลือกที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่บริษัทฯ ก็ได้ กรณีที่ผู้เช่าประสงค์จะใช้สิทธิซื้อทรัพย์สินจาก บริษัทฯ ผู้เช่าจะต้องแจ้งให้บริษัทฯ ทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่าสองเดือนก่อนวันที่ระยะเวลาการเช่าในสัญญาจะสิ้นสุดลง นอกจากนี้ ผู้เช่าจะต้องเข้าทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สิน รับโอนกรรมสิทธิ์และชำระราคาค่าซื้อขายทรัพย์สินตามราคาที่ระบุไว้ใน หนังสือฉบับดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 14 วันนับแต่วันที่ระยะเวลาการเช่าในสัญญาสิ้นสุดลง มิฉะนั้น ถือว่าผู้เช่าได้สละสิทธิที่ จะไม่ซื้อทรัพย์สินที่เช่า ผู้เช่าจะต้องคืนทรัพย์สินให้แก่บริษัทฯ ทันที ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขอื่นของสัญญา ทั้งนี้ หนังสือบอกกล่าว จะลงนามโดยกรรมการผู้มีอำนาจฝ่ายเดียว บริษัทฯ และผู้เช่าจะไม่ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าแต่อย่างใด
          บริษัทฯ เห็นว่าการทำหนังสือบอกกล่าวฝ่ายเดียวไปยังผู้เช่า ถือเป็นคำมั่นตามมาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อบริษัทฯ ได้ทำหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้เช่า ถือว่า การให้เช่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นการให้เช่า ทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง บริษัทฯผู้ให้เช่าไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.176/2552ฯ ลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552 จึงขอทราบว่า บริษัทฯ เข้าใจถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย          หากสัญญาให้เช่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง โดยบริษัทฯ ผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินและ นำออกให้เช่าโดยให้คำมั่นว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิเลือกที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้เช่าก็ได้ และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
          1. ผู้ให้เช่าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ได้รับชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท และเป็น ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ผู้เช่าเป็นนิติบุคคล
          3. กำหนดเวลาเช่า ต้องมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เว้นแต่ทรัพย์สินที่ให้เช่าเป็นทรัพย์สินที่ผู้ให้เช่ายึดมาจากผู้เช่า รายอื่น ระยะเวลาในการให้เช่าอาจไม่ถึง 3 ปีก็ได้
          คำว่า "การให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง" หมายความว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์สินซึ่งผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินและนำออก ให้เช่าโดยให้คำมั่นว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิเลือกที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้เช่าก็ได้
          กรณีการให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งข้างต้น บริษัทฯ ผู้ให้เช่าจะไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 176/2552ฯ ลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552
เลขตู้: 73/37198

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020