เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2755
วันที่: 20 เมษายน 2553
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท ก. ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศออสเตรีย ประกอบกิจการผลิตเพชร พลอยสังเคราะห์ พลอยธรรมชาติเครื่องแก้ว แก้วเจียระไน โดยมีข้อเท็จจริงสรุปว่า บริษัท ก. ทำสัญญาบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ (Intercompany IT-Services Agreement) (สัญญาฯ) กับบริษัทในเครือ ข. ทั่วโลก รวมทั้งบริษัท ค. ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
          1. การให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการปฏิบัติการ (Operational IT Services) หมายความถึง การให้ใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ การให้ใช้ซอฟต์แวร์ การให้บริการดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ดังกล่าว และการให้บริการให้ความช่วยเหลือ ผู้ใช้งาน (User support) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
               1.1 การให้เช่าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์
               บริษัท ก. ให้เช่าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Standard PC) เครื่องคอมพิวเตอร์ กระเป๋าหิ้ว (Standard laptop) หน้าจอคอมพิวเตอร์ (Screen/Flat screen) หน้าจอแบบสัมผัส (Touch screen) เครื่องช่วยงาน ส่วนบุคคลแบบดิจิตอล (PDA:Personal Digital Assistants) เซิร์ฟเวอร์ (server) เป็นต้น แก่บริษัท ค. โดยบริษัท ค. ตกลงชำระ ค่าตอบแทนจากการให้เช่าอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นรายปีแก่บริษัท ก.
               1.2 การให้บริการซอฟต์แวร์
                บริษัท ก. ให้บริษัท ค. ใช้ซอฟต์แวร์ปฏิบัติการ เช่น Visio, MS Project, Photo Shop, SDS เป็นต้น โดย บริษัท ค. ตกลงชำระค่าตอบแทนจากการใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าว เป็นรายปีสำหรับแต่ละซอฟต์แวร์แก่บริษัท ก. ทั้งนี้ ค่าตอบแทนจากการใช้ซอฟต์แวร์ประกอบด้วยค่าลิขสิทธิ์ ซอฟต์แวร์ และค่าบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ไม่บวกกำไรส่วนเพิ่มใดๆ
               1.3 การให้บริการให้ความช่วยเหลือผู้ใช้งาน (User support)
               บริษัท ก. จะให้บริการให้ความช่วยเหลือผู้ใช้งานแก่บริษัท ค. ดังนี้
               1.3.1 การให้บริการให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวเนื่องกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ สำหรับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (PC) คอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว (Laptop) สถานีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Workstation) เครื่องช่วยงานส่วนบุคคลแบบดิจิตอล (PDA : Personal Digital Assistants) ฯลฯ
               1.3.2 การให้ความช่วยเหลือในด้านเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ เช่น การติดตั้งไฟล์รักษาความปลอดภัยล่าสุด การบริการ ด้านการป้องกันไวรัส การสำรองข้อมูล การจัดการสิทธิในการใช้ระบบ การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อเกิดปัญหา (Troubleshooting) ฯลฯ
               1.3.3 การให้ความช่วยเหลือในด้านซอฟต์แวร์ต่างๆ เช่น การทดสอบการใช้งานซอฟต์แวร์ ให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ใช้งานทางโทรศัพท์ (Hotline) ตรวจสอบดูแลการเชื่อมต่อระหว่างซอฟต์แวร์ต่างๆ ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นประจำวัน ฯลฯ
          โดยบริษัท ค. ตกลงชำระค่าตอบแทนให้กับบริษัท ก. เป็นรายปีสำหรับการให้บริการให้ความช่วยเหลือผู้ใช้งานแก่บริษัท ก. โดยค่าตอบแทนดังกล่าวประกอบด้วยต้นทุนการให้ความช่วยเหลือ การดำเนินการและการบำรุงรักษาไม่บวกกำไรส่วนเพิ่มใดๆ
          2. บริการพัฒนาแอพพลิเคชั่นทางธุรกิจรายตัว (Individual Business Application Development Srevices) บริษัท ก. จะให้บริการด้านการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ หรือที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งรวมถึง การติดตั้ง การจัด เตรียมระบบตามความต้องการของผู้ใช้ และการให้ความช่วยเหลือแต่ละบุคคลซึ่งไม่ได้ครอบคลุมภายใต้บริการตามข้อ 1. ทั้งนี้ ตามคำร้องของบริษัท ค. ซึ่งค่าตอบแทนการให้บริการดังกล่าวจะคำนวณจากจำนวนชั่วโมงที่ใช้จริงตามอัตราต่อชั่วโมงที่กำหนด ไว้ในสัญญา และค่าบริการของที่ปรึกษาบุคคลที่สามและผู้ให้บริการอื่น ค่าใช้จ่าย ค่าเดินทางรวมถึงค่าใช้จ่ายโดยตรงต่างๆ ที่ เกิดขึ้นจากการให้บริการ โดยไม่บวกกำไรส่วนเพิ่มใดๆ
          3. โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศทั่วโลก (Global IT Projects) บริษัท ก. จะให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็น พิเศษ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศใหญ่ๆ ซึ่งจะให้ประโยชน์กับกลุ่มบริษัท สวารอฟสกี้หลายๆ บริษัท หรือ ทั้งหมดทั้งนี้ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าว จะถูกกำหนดและตกลงร่วมกันระหว่างคู่สัญญาภายใต้สัญญาที่แยกจาก สัญญาฯ นี้ ซึ่งค่าตอบแทนการให้บริการดังกล่าว จะขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาภายใต้สัญญานั้นๆ อย่างไรก็ตาม โดย ปกติค่าบริการจะคำนวณจากอัตราต่อชั่วโมงและจำนวนชั่วโมงที่ใช้ไปจริงของพนักงานที่เกี่ยวข้องและค่าบริการของที่ปรึกษา และผู้ให้บริการ ค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง รวมถึงค่าใช้จ่ายโดยตรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการให้บริการดังกล่าว โดยไม่บวกกำไรส่วนเพิ่มใดๆ
          4. การให้บริการเครือข่าย (Network Services) การให้บริการเครือข่าย หมายถึง การให้บริการเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศโดยผู้ให้บริการซึ่งเป็นบุคคลที่สาม ทั้งนี้ บริษัท ก. จะเรียกเก็บค่าตอบแทนการให้บริการจากบริษัท ค. ด้วยจำนวนเงิน เท่ากับที่ผู้ให้บริการบุคคลที่สามเรียกเก็บจากบริษัท ก. โดยไม่บวกกำไรส่วนเพิ่มใดๆ
แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัท ก. ทำสัญญาบริการเทคโนโลยีสารสนเทศกับบริษัท ค. โดยบริษัท ก. ให้บริการให้ความช่วยเหลือผู้ใช้งานตามข้อ 1.3 การให้บริการพัฒนาแอพพลิเคชั่นทางธุรกิจรายตัวตามข้อ 2. การให้บริการด้านโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศทั่วโลกตามข้อ 3. และการให้บริการเครือข่ายตามข้อ 4. หากการให้บริการดังกล่าว ไม่มีการให้ข้อมูลใดๆ ที่เป็นการให้เทคโนโลยี หรือให้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรมทางวิทยาศาสตร์ การให้บริการดังกล่าว ย่อมเข้าลักษณะเป็นการให้บริการรับจ้างโดยทั่วไป ค่าตอบแทนจากการให้บริการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ดังนั้น เมื่อ บริษัท ก. ซึ่งไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย ให้บริการในต่างประเทศโดยไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าว ตามข้อ 5 และข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับ มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 เมื่อบริษัท ค. จ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาให้แก่บริษัท ก. บริษัท ค. จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากการให้บริการดังกล่าว เป็นการ ให้ใช้หรือสิทธิในการใช้อุปกรณ์ทางอุตสาหกรรม หรือเพื่อข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือ วิทยาศาสตร์ ตามข้อ 12 แห่งอนุสัญญาฯ ค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าว เข้าลักษณะเป็น ค่าสิทธิ ตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัท ค. จ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาให้แก่บริษัท ก. ซึ่งไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย บริษัท ค. จึงมีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
          2. กรณีบริษัท ก. ทำสัญญาบริการเทคโนโลยีสารสนเทศกับบริษัท ค. โดยบริษัท ก. ให้บริษัท ค. เช่าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องคอมพิวเตอร์กระเป๋า หน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอแบบสัมผัส ฯลฯ ตามข้อ 1.1 และให้บริษัท ค. ใช้ซอฟต์แวร์ปฏิบัติการ เช่น Visio, MS Project, MS Access ตาม 1.2 หากการให้บริการดังกล่าว เป็นการให้ใช้หรือสิทธิในการใช้ อุปกรณ์ทางอุตสาหกรรม หรือเพื่อข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือวิทยาศาสตร์ ตามข้อ 12 แห่งอนุสัญญาฯ ค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าว เข้าลักษณะเป็น ค่าสิทธิ ตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อ บริษัท ค. จ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาให้แก่บริษัท ก. ซึ่งไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย บริษัท ค. จึงมีหน้าที่หักภาษี จากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
เลขตู้: 73/37263

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020