เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/3805
วันที่: 4 มิถุนายน 2553
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีซื้อขายรูปภาพผ่ายระบบอินเทอร์เน็ต
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(3) มาตรา 70 มาตรา 27 ตรี มาตรา 83/6(2) และมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ ประกอบกิจการธุรกิจซื้อขายรูปภาพ (Stock Photo) เป็นตัวแทนจำหน่ายรูปภาพลิขสิทธิ์ และจัดหารูปภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซื้อขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต บริษัทฯ มีเว็บไซต์ให้ลูกค้าเข้าไปดูภาพต่างๆ เมื่อ เลือกภาพที่ต้องการจะติดต่อบริษัทฯ เพื่อขอซื้อสิทธิในการใช้ภาพ และทำการดาวน์โหลดภาพเพื่อใช้ประกอบสื่อสิ่งพิมพ์ และ โฆษณาประชาสัมพันธ์ เช่น นำภาพไปประกอบในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน โปสเตอร์ ป้ายโฆษณา เป็นต้น บริษัทฯ ขายสิทธิในการใช้ภาพเพื่อนำไปใช้งานเท่านั้น ไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ กรรมสิทธิ์เป็นของเจ้าของภาพ การขายสิทธิใช้ภาพมี 2 ลักษณะ ดังนี้
          (1) Right Managed มีกำหนดระยะเวลาในการใช้งาน และระบุลักษณะของการนำภาพไปใช้
          (2) Royalty Fee ไม่จำกัดระยะเวลา จำนวนครั้งในการใช้งาน และสามารถนำภาพไปใช้ได้ตลอด
          บริษัทฯ ซื้อภาพจากต่างประเทศโดยการดาวน์โหลดรูปภาพ (เป็นภาพถ่ายจากกล้อง) จากสื่ออินเทอร์เน็ต บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าสิทธิให้กับเจ้าของภาพ เป็นบริษัทต่างประเทศในอัตราร้อยละ 60 จากยอดเงินที่บริษัทฯ ขายได้ หักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษี แบบ ภ.ง.ด. 54 ในอัตราร้อยละ 15 และยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบ ภ.พ.36 ในอัตรา ร้อยละ 7.0 แต่บริษัทในบางประเทศ เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริกา แจ้งว่าตามอนุสัญญาภาษีซ้อนได้สิทธิ ถูกหักภาษีเงินได้ ในอัตราร้อยละ 5
          บริษัทฯ หารือว่า
          (1) ค่าลิขสิทธิ์กับค่าสิทธิ เป็นรายการเดียวกันใช่หรือไม่
          (2) ภาพที่ถ่ายจากกล้องจัดเป็นงานศิลปะ หรือศิลปกรรม หรือสิทธิประเภทใด
          (3) ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน คำว่า งานศิลปะ และศิลปกรรม เป็นตัวเดียวกันหรือไม่
          (4) การซื้อรูปภาพจากบริษัทในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อน ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราใด
          (5) กรณีต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ส่วนที่นำส่งเกินบริษัทฯ ขอคืนภาษีได้หรือไม่ ต้องใช้หลักฐานและเวลาการขอคืนอย่างไร
          (6) กรณีไม่มีการขอคืนส่วนต่างในอัตราร้อยละ 10 บริษัทผู้รับเงินในต่างประเทศ นำภาษีในอัตราร้อยละ 10 ไปเป็น เครดิตได้หรือไม่
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ มีรายได้ 2 ประเภท ดังนี้
          (1) ซื้อมาขายไป บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายรูปภาพลิขสิทธิ์ และจัดหารูปภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยซื้อขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เมื่อลูกค้าต้องการซื้อภาพที่บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่าย ลูกค้าเข้าไปดูรูปภาพที่เว็บไซด์บริษัทฯ และบริษัทฯ ซื้อรูปภาพจากต่างประเทศโดยการดาวน์โหลดผ่านระบบอินเทอร์เน็ต นำส่งให้ลูกค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
          (2) งานให้บริการ บริษัทฯ ให้บริการด้านภาพดิจิตอล (DIGIAL IMAGE SERVICE) เป็นการบริการสแกนภาพปริ้น และฟิล์ม (Scan) ตกแต่งรูปภาพ (Retouch) และสร้างคำจำกัดความของรูปภาพ (Keyword) ลูกค้าที่ใช้บริการเป็นลูกค้าที่อยู่ใน ต่างประเทศ ลูกค้าส่งภาพทางระบบอินเทอร์เน็ต หรือบริษัทฯ ขนส่งระหว่างประเทศ (FedEx DHL UPS) เมื่อให้บริการเสร็จ บริษัทฯ ทำการส่งออกไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด ไม่มีการเก็บหรือนำมาใช้ในประเทศไทย
          วิธีการส่งออกมี 2 วิธี ดังนี้
          (1) ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต บริษัทฯ เรียกเก็บเงินเฉพาะค่าบริการ
          (2) นำงานที่ทำเสร็จบันทึกลงซีดี หรือดีวีดี (Burning to DVD/CD Service) แล้วส่งออกไปให้ลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศ โดยบริษัทฯ ขนส่งระหว่างประเทศ (FedEx DHL) บริษัทฯ เรียกเก็บค่าบริการงาน และค่าบริการบันทึกข้อมูลลงซีดี และดีวีดี งานบริการส่งออกและนำไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด ไม่มีการเก็บหรือนำมาใช้ในประเทศไทย
          บริษัทฯ หารือว่า ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร ในอัตราใด และใช้หลักฐานอะไร
แนววินิจฉัย          1. ตาม 1. กรณีบริษัทฯ ซื้อรูปภาพที่ถ่ายจากกล้องถ่ายรูปจากบริษัทต่างประเทศ ส่งรูปภาพโดยระบบอินเทอร์เน็ต เมื่อ บริษัทฯ จ่ายค่าสิทธิให้กับบริษัทต่างประเทศโดยบริษัทฯ ไม่ได้รับลิขสิทธิ์ในรูปภาพนี้นอกจากการมีสิทธิในการขายรูปภาพให้กับ ลูกค้าเพื่อนำไปใช้งานเท่านั้น เป็นการได้สิทธิในการใช้ภาพถ่ายจากบริษัทต่างประเทศ เพื่อนำมาหาประโยชน์กับลูกค้าของบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นค่าสิทธิ ตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ขายภาพถ่ายให้กับลูกค้าของบริษัทฯ และมีข้อตกลง ต้องจ่ายค่าสิทธิให้กับบริษัทต่างประเทศเจ้าของภาพในอัตราร้อยละ 60 จากยอดเงินที่บริษัทฯ ขายได้ บริษัทฯ มีภาระภาษี ดังนี้
          (1) บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้แก่บริษัทต่างประเทศ ที่ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ดังนี้
               (1.1) ประเทศแคนาดา บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ของเงินที่จ่าย ให้แก่บริษัทฯ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 12 ของอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศแคนาดา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
               (1.2) ประเทศฝรั่งเศส บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ของเงินที่จ่าย ให้แก่บริษัทฯ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 12 ของอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและ รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บ จากเงินได้
               (1.3) ประเทศอังกฤษ บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ของเงินที่จ่าย ให้แก่บริษัทฯ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 13 ของอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ และไอร์แลนด์เหนือ กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
               (1.4) ประเทศอเมริกา บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่จ่าย ให้แก่บริษัทฯ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 13 ของอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา และรัฐบาล แห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
          (2) กรณีบริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมิน และนำส่งภาษีกรมสรรพากร แต่บริษัทฯ ได้นำส่งภาษีเป็น จำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องชำระ ถือได้ว่า บริษัทต่างประเทศ เป็นผู้ถูกหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย และนำส่งไว้เกิน บริษัทต่างประเทศมีสิทธิขอคืนจำนวนภาษีที่ถูกหักไว้เกินได้ โดยยื่นแบบ ค.10 ภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายของกำหนดเวลา ยื่นรายการภาษี ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
          สำหรับภาษีที่บริษัทต่างประเทศถูกบริษัทฯ หักไว้เกินในประเทศไทย จะถือเป็นเครดิตต่อภาษีแคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริกา ของบริษัทต่างประเทศในประเทศแคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริกาหรือไม่ อย่างไร มิใช่ประเด็นที่ กรมสรรพากรแห่งรัฐบาลไทยจะต้องพิจารณาตามทางปฏิบัติที่กรมสรรพากรได้วางไว้
          (3) กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าสิทธิเป็นการตอบแทนให้กับบริษัทต่างประเทศในการได้ใช้รูปภาพ เข้าลักษณะเป็น "บริการ" การให้บริการดังกล่าว เป็นการให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการในราชอาณาจักร เมื่อบริษัทฯ จ่าย ค่าบริการให้กับบริษัทต่างประเทศ จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 7.0 ของค่าบริการทั้งหมด ตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 และมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยใช้แบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบ ภ.พ. 36 ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินให้ผู้ประกอบการ ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
          2. ตาม 2(1) กรณีบริษัทฯ ได้รับค่าสิทธิเป็นการตอบแทนในการให้ลูกค้าที่อยู่ในต่างประเทศได้ใช้รูปภาพที่ถ่ายจาก กล้องถ่ายรูป ลิขสิทธิ์ในรูปภาพเป็นของเจ้าของรูปภาพที่บริษัทฯ ไปซื้อมาจากบริษัทต่างประเทศ เข้าลักษณะเป็น "บริการ" และได้ส่งผลของการให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด โดยลูกค้าในประเทศไทยไม่สามารถเข้าไปใช้ บริการได้ และบริษัทฯ มีหลักฐานแสดงการชำระราคาค่าบริการตามใบแจ้งหนี้ (INVOICE) ในนามของบริษัทฯ จะทำให้บริษัทฯ ได้รับสิทธิในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) และข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543
          3. ตาม 2(2) กรณีบริษัทฯ ได้รับการว่าจ้างจากลูกค้าที่อยู่ในต่างประเทศ ให้บริษัทฯ สแกนภาพและฟิล์ม ตกแต่งรูปภาพ และสร้างคำจำกัดความ เมื่อให้บริการเสร็จส่งออกไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด ไม่มีการเก็บหรือนำมาใช้ในประเทศไทย เข้าลักษณะ เป็น "บริการ" และได้ส่งผลของการให้บริการไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด โดยลูกค้าในประเทศไทยไม่สามารถเข้าไปใช้บริการได้ และบริษัทฯ มีหลักฐานแสดงการชำระราคาค่าบริการตามใบแจ้งหนี้ (INVOICE) ในนามของบริษัทฯ จะทำให้บริษัทฯ ได้รับสิทธิในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) และข้อ 3 ของ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543
เลขตู้: 73/37317

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020