เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/4557
วันที่: 25 มิถุนายน 2553
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีให้บริการขนส่งสินค้า และรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2 มาตรา 80/1(3) และมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          สมาคมฯ หารือวิธีปฏิบัติในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่มของสมาชิกซึ่ง ประกอบธุรกิจ Freight Forwarder ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล
แนววินิจฉัย          1. กรณี Freight Forwarder (A) ได้รับเงินค่าบำเหน็จจากสายการเดินเรือ ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายไทย ในการให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนจากการทำหน้าที่เป็นตัวกลางติดต่อ ระหว่างลูกค้าในประเทศไทยกับ สายการเดินเรือ A มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายได้ค่าบำเหน็จที่ได้รับจากสายการเดินเรือ ตามมาตรา 65 แห่ง ประมวลรัษฎากร และกรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร A ต้องนำค่าบริการ ที่ได้รับมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 7.0 และมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีให้สายการเดินเรือ ตามมาตรา 77/2 มาตรา 80 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร โดยสายการเดินเรือซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 3/1(1) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
          2. กรณี A ได้รับเงินค่าบำเหน็จจากสายการเดินเรือต่างประเทศ ในการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนจากการทำหน้าที่เป็น ตัวกลางติดต่อระหว่างลูกค้าในต่างประเทศกับสายการเดินเรือต่างประเทศ A มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายได้ ค่าบำเหน็จที่ได้รับจากสายการเดินเรือ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดย A ไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และกรณี ดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
          3. กรณี A ประกอบกิจการซื้อระวางสินค้าของสายการเดินเรือ และขายระวางสินค้าให้กับเจ้าของสินค้า เมื่อ A ได้จ่าย ค่าขนส่งเนื่องจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยให้แก่สายการเดินเรือ โดยสายการเดินเรือได้ออกใบตราส่งสินค้าให้กับ A ในนามของเจ้าของสินค้า และสายการเดินเรือออกใบเสร็จรับเงินในนามของ A จำนวน 10,000 บาท A จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามข้อ 12/4(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 โดย A มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ สายการเดินเรือ ในนามของ A และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด.53 โดยระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของ A ในช่อง "ผู้จ่ายเงิน" ซึ่งกรมสรรพากรจะออก ใบเสร็จรับเงินในนามของ A แต่หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า เป็นการจ่ายค่าขนส่งให้สายการเดินเรือไทยที่เข้าลักษณะ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 314) พ.ศ. 2540 ผู้จ่ายเงินไม่มี หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่ประการใด
          4. กรณีเมื่อ A ได้จ่ายค่าขนส่งในประเทศไทยให้สายการเดินเรือ ซึ่งประกอบกิจการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดย เรือเดินทะเลที่กระทำโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล จากประเทศไทยไปต่างประเทศ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ ตาม มาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร สายการเดินเรือ ต้องนำค่าบริการที่ได้รับมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 0 ตาม มาตรา 80/1(3) แห่งประมวลรัษฎากร
          5. กรณี เมื่อเจ้าของสินค้าจ่ายค่าบริการให้กับ A จำนวน 12,000 บาท เจ้าของสินค้าซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่ายจาก A ในอัตราร้อยละ 3.0 และต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับ A ตามข้อ 3/1(1) ของคำสั่ง กรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
          6. กรณี เงินค่าบริการที่ A ได้รับจากลูกค้าจำนวน 12,000 บาท เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1(10) แห่ง ประมวลรัษฎากร A ต้องนำค่าบริการที่ได้รับมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 7.0 และมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี ตามมาตรา 77/2 มาตรา 79/1(2) มาตรา 80 มาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องนำค่าบริการจำนวน 12,000 บาท มาถือเป็นรายได้ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยสามารถนำเงินค่าขนส่งให้สายการเดินเรือ จำนวน 10,000 บาท ซึ่งเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้
เลขตู้: 73/37361

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020