เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/4317
วันที่: 18 มิถุนายน 2553
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีครูสัญชาติอังกฤษที่เข้ามาสอนในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18)
ข้อหารือ          นาย จ. ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรตามแบบ ค.10 สำหรับปีภาษี 2548 จำนวน 282,498.46 บาท เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 โดยนาย จ. เป็นครูสัญชาติอังกฤษ ได้ทำสัญญากับบริษัท ร. (บริษัทฯ) เพื่อรับ จ้างสอนที่โรงเรียนนานาชาติ มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2547 ถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2549 ได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้ ดังนี้
          1. ปีภาษี 2547 มีเงินได้จากเงินเดือนจำนวน 264,380.34 บาท ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จำนวน 6,738.00 บาท ขอคืน ภาษีอากรไว้จำนวน 999.67 บาท และได้รับคืนแล้ว
          2. ปีภาษี 2548 มีเงินได้จากเงินเดือนจำนวน 1,573,494.85 บาท ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จำนวน 282,499.00 บาท ไม่มี ภาษีคืน
แนววินิจฉัย          1. กรณีครูเข้ามาทำการสอนในประเทศไทย มีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีนับจากวันที่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก โดยจะต้องเดินทางออกจากประเทศไทยก่อนหรือเมื่อครบกำหนด 2 ปี จะได้รับ สิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่ แรกที่เข้ามาในประเทศไทย ตามข้อ 21 วรรคหนึ่งแห่งอนุสัญญาดังกล่าว ประกอบกับ มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
          2. กรณีครูเข้ามาสอนในประเทศไทย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยได้เดินทางออกจากประเทศไทยก่อนหรือเมื่อครบ กำหนด 2 ปีแล้ว หากเดินทางกลับเข้ามาสอนในประเทศไทยอีกในปีที่ 3 หรือปีต่อๆ ไป แม้จะมีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี จะไม่ได้รับ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย เนื่องจากข้อ 21 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญา ดังกล่าวกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา สำหรับกรณีการเดินทางเข้ามาสอนครั้งแรก ซึ่งมีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น
          กรณีครูเดินทางออกจากประเทศไทย ก่อนหรือเมื่อครบ กำหนด 2 ปี เป็นการเดินทางออกจากประเทศไทยชั่วคราว โดย จะเดินทางกลับเข้ามายังประเทศไทย เพื่อต่อสัญญาจ้างและเริ่มทำงานในปีที่ 3 หรือปีต่อๆ ไปแล้ว กรณีย่อมถือได้ว่า การเดินทาง เข้ามาทำการสอนในประเทศไทยดังกล่าว มีลักษณะเป็นงานที่กระทำต่อเนื่องกันไป จากงานสอนเดิม โดยมีระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก ซึ่งจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดาในประเทศไทยสำหรับค่าตอบแทน ในการสอนมาตั้งแต่ต้น ครูมีหน้าที่ต้องนำค่าตอบแทนที่ได้รับทั้งหมดจากการสอนหนังสือใน ประเทศไทย มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
          ตามข้อเท็จจริง หากนาย จ. เข้ามาสอนในประเทศไทย มี ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ครั้งแรก โดยจะต้องเดินทางออกจากประเทศไทยก่อนหรือเมื่อครบ กำหนด 2 ปี นาย จ. จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่แรกที่เข้ามาในประเทศไทย ตามข้อ 21 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาฯ เมื่อนาย จ. กลับเข้ามาสอนในประเทศไทย หากไม่ได้เป็นการต่อสัญญาจ้างหรือกระทำต่อเนื่องจากงานสอนเดิม นาย จ. ก็ยังคงได้รับสิทธิ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอนุสัญญาฉบับดังกล่าว
เลขตู้: 73/37341

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020