เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/7064
วันที่: 14 กันยายน 2553
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินได้จากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยน
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ
ข้อหารือ          บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการติดตั้งระบบโปรแกรมข้อมูลทาง อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้ในการทำธุรกรรมด้านบัตรเครดิตให้กับธนาคารพาณิชย์และร้านค้าต่างๆ ในรูปซอฟท์แวร์ระบบ Multi Currency Conversion (MCC) เพื่อทำการเชื่อมโยงเครือข่าย เข้าหากัน ตลอดจนเป็นผู้ดูแลรักษา ซ่อมแซม ตรวจสอบให้ระบบดังกล่าวทำงานได้อย่าง มีประสิทธิภาพ โดยมีธนาคารพาณิชย์ เป็นผู้ควบคุมดูแลทางด้านการเงินให้กับผู้ที่นำบัตรเครดิตมาใช้บริการกับระบบดังกล่าว ทั้งด้านการ เรียกเก็บและจ่ายเงินให้กับ ลูกค้าของบริษัทฯ บริษัทฯ มีรายได้จากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนกรณีที่ร้านค้าใช้ระบบโปรแกรมข้อมูล ทางอิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ เป็นผู้ใส่ข้อมูลการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆ ให้ถูกต้องโดยอ้างอิงอัตราแลก เปลี่ยน ประจำวันตามประกาศของธนาคาร และบวกเพิ่มตามจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่ตกลงไว้กับธนาคารสำหรับแต่ละสกุลเงิน ซึ่งเป็นไป ตาม ระเบียบข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนในการชำระเงินของผู้ถือบัตร เพื่อให้ร้านค้า แจ้งราคาสินค้า หรือบริการที่จะเรียกเก็บนั้นให้แก่ผู้ถือบัตรทราบ ธนาคารจะโอนเงินตามจำนวนที่เรียกเก็บจากผู้ถือบัตร (Target Amount) และเปลี่ยนเป็น สกุลเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนรายวันตามประกาศแจ้งทางเว็บไซต์ของธนาคาร จากนั้น จึงหักค่าธรรมเนียมและภาษีมูลค่าเพิ่มของค่า ธรรมเนียมเป็นยอดเงินสุทธิที่เรียกเก็บ ธนาคารจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากร้านค้า ด้วยจำนวนเงินสุทธิของราคาสินค้า หรือบริการหลังจาก หักค่าธรรมเนียมและภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าธรรมเนียมแล้ว เมื่อธนาคาร โอนเงินให้ร้านค้าเรียบร้อยแล้ว จะเกิดส่วนต่างขึ้นจำนวนหนึ่งที่ ธนาคารต้องโอนให้กับทางบริษัทฯ เช่น ร้านค้ามีการขายของให้กับ ลูกค้าชาวอังกฤษในราคา 4,000 บาท เมื่อร้านค้านำบัตรเครดิตของ ลูกค้ามาเรียกเก็บผ่านระบบโปรแกรมข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัทฯ ในใบเสร็จจะแสดงยอดเงิน 4,000 บาท (87.09 ปอนด์อังกฤษ) ในกรณีนี้อัตราแลกเปลี่ยนคือ 45.92 บาท ต่อ 1 ปอนด์อังกฤษ บริษัทฯ จะส่งข้อมูลไปที่ธนาคาร เมื่อธนาคารได้รับข้อมูลแล้วก็จะทำการ เรียกเก็บเงินจากลูกค้าผู้ถือบัตรในอัตรา แลกเปลี่ยน 47.35 บาท ต่อ 1 ปอนด์อังกฤษ เงินที่ธนาคารเรียกเก็บได้จะเท่ากับ 4,123.71 บาท และ คิดค่าธรรมเนียมในอัตรา ร้อยละ 2 และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ของยอดค่าธรรมเนียมดังกล่าว ดังนั้น จำนวนเงินที่ธนาคาร จะจ่ายให้กับ บริษัทฯ และร้านค้าจึงเป็นเงิน 4,035.47 บาท (4,123.71 บาท หักด้วย 82.47 บาท หักด้วย 5.77 บาท) โดยธนาคารโอนเงินคืน ให้ร้านค้าเป็นเงิน 3,914.40 บาท (4,000 บาท หักด้วย 80 บาท หักด้วย 5.60 บาท) ทำให้เกิดผลต่างเป็นเงิน 121.07 บาท (4,035.47 บาท หัก ด้วย 3,914.40 บาท) ที่ธนาคารต้องโอนให้กับบริษัทฯ ซึ่งเกิดจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
          ตัวอย่าง
ร้านค้าขายสินค้า/บริการ 4,000 บาท = 87.09 GBP (1 GBP = 47.35 บาท)
ธนาคารคำนวณค่าสินค้า/บริการ (87.09 x 47.35) 4,123.71 บาท
ร้านค้าขายสินค้า/บริการ 4,000.00 บาท
ผลต่างเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยน 123.71 บาท
หัก ค่าธรรมเนียมธนาคาร (123.71 x 2%) (2.47) บาท
     ภาษีมูลค่าเพิ่ม (2.47 x 7%) (0.17) บาท
ผลต่างเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิโอนเข้าบริษัท 121.07 บาท
ดังนั้น บริษัทฯ ขอหารือว่า ส่วนต่างที่เกิดขึ้นตามกรณีดังกล่าว ธนาคารผู้จ่ายมีหน้าที่จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่
แนววินิจฉัย          บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการติดตั้งระบบโปรแกรมข้อมูลทาง อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้ในการทำธุรกรรมด้านบัตรเครดิตให้กับ ธนาคารพาณิชย์และร้านค้าต่างๆ ในรูปซอฟท์แวร์ระบบ Multi Currency Conversion (MCC) เพื่อทำการเชื่อมโยงเครือข่าย เข้าหากัน ขอบเขตการให้บริการและความรับผิดชอบของผู้ให้บริการรวมถึง เป็นผู้ดูแล รักษา ซ่อมแซม ตรวจสอบให้ระบบ ดังกล่าวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ เมื่อบริษัทฯ มีรายได้จากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนจากการใช้ระบบโปรแกรมข้อมูลทาง อิเล็กทรอนิกส์ของ บริษัทฯ ธนาคารผู้จ่ายจึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้: 73/37507

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020