เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/6281
วันที่: 9 สิงหาคม 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเสียภาษีเงินได้ของโรงเรียนเอกชนนอกระบบ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 42 (17) และกฎกระทรวง ฯ (ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)
ข้อหารือ            นอกระบบ ชื่อโรงเรียนกวดวิชาและภาษา ส. โดยสามารถจัดการเรียนการสอนได้ 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทกวดวิชาและประเภทวิชาชีพ (สอนภาษา) ในการประกอบกิจการโรงเรียนฯ ได้บันทึกรายได้แต่ละประเภทโรงเรียนแยกจากกัน ส่วนรายจ่ายค่าจ้างครูผู้สอนได้บันทึกแยกกันระหว่างครูผู้สอนประเภทกวดวิชา กับครูผู้สอนประเภทวิชาชีพ (สอนภาษา) สำหรับรายจ่ายประเภทอื่น ๆ ไม่ได้บันทึกแยกกันอย่างชัดเจน เช่น ค่าเครื่องเขียน อาหารว่างและเครื่องดื่ม อุปกรณ์การสอน ขอหารือ ดังนี้
           1. กรณีที่โรงเรียนฯ จัดการเรียนการสอนทั้งประเภทกวดวิชาและประเภทวิชาชีพ (สอนภาษา) จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ หรือไม่ อย่างไร
           2. กรณีที่โรงเรียนฯ จัดการเรียนการสอนทั้งประเภทกวดวิชาและประเภทวิชาชีพ (สอนภาษา) โดยมีค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อใช้ร่วมกันที่ไม่สามารถแยกได้ว่า เป็นค่าใช้จ่ายของกิจการประเภทใดหรือแต่ละประเภทมีสัดส่วนเท่าใด กรณีดังกล่าวจะถือปฏิบัติอย่างไร
           3. กรณีที่โรงเรียนฯ ไม่ได้จัดการเรียนการสอนประเภทกวดวิชาในบางเดือนเนื่องจากไม่มีนักเรียนหรือไม่มีผู้สอน จะคำนวณค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ อย่างไร
           4. กรณีที่โรงเรียนฯ ได้รับอนุญาตให้จัดการเรียนการสอนทั้งสองประเภทดังกล่าว แต่โรงเรียนฯ ทำการสอนประเภทวิชาชีพ (สอนภาษา) เพียงอย่างเดียว จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี หรือไม่ และจะต้องมีผู้สอบบัญชีรับรอง หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย            1. กรณีที่โรงเรียนฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนนอกระบบได้รับอนุญาตให้ทำการสอนได้ทั้งประเภทกวดวิชาและประเภทวิชาชีพ (สอนภาษา) นั้น เฉพาะเงินได้ที่ได้รับจากกิจการโรงเรียนประเภทวิชาชีพ (สอนภาษา) ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (1) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 1 (1) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 307 (พ.ศ. 2558) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร นางสาว ส. จึงไม่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากกิจการโรงเรียนประเภทวิชาชีพ (สอนภาษา) ดังกล่าว
           2. กรณีที่โรงเรียนฯ มีค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อกิจการของโรงเรียนทั้งสองประเภทนั้น เนื่องจากโรงเรียนประเภทกวดวิชาเป็นกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ แต่โรงเรียนประเภทวิชาชีพ (สอนภาษา) เป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ดังนั้น โรงเรียนฯ ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายของทั้งสองกิจการแยกจากกัน และหากค่าใช้จ่าย ที่เกิดขึ้นไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจนว่าเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อกิจการประเภทใด และไม่มีเกณฑ์อื่นที่จะเฉลี่ยค่าใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสมแล้วก็ให้เฉลี่ยค่าใช้จ่ายดังกล่าวออกตามส่วนของรายได้ของกิจการโรงเรียน แต่ละประเภทในแต่ละปีภาษี
           3. หากปรากฏว่า โรงเรียนฯ ได้ทำการสอนเฉพาะประเภทวิชาชีพ (สอนภาษา) เงินได้ที่ได้รับจากกิจการประเภทดังกล่าว ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (1) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 1 (1) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 307 (พ.ศ. 2558)ฯ นางสาว ส. จึงไม่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 81/40768

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020