เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/พ.6297
วันที่: 10 สิงหาคม 2561
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับสัตว์
ข้อกฎหมาย : มาตรา 81(1) (จ) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ            บริษัท ฯ หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับสัตว์ โดยมีข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติดังนี้
           1. บริษัทฯ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภท “บริษัทจำกัด”
           2. บริษัทฯ จะผลิตและจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ “ S” ซึ่งประกอบด้วยสารสำคัญ
                - GLUTARALDEHYDE 15% W/W
                - ALKYL BENZYL DIMETHYL AMMONIUM CHLORIDE 10% W/W
                - POLYETHOXYLATED NONYL PHENOL 3% W/W
           เพื่อใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สำหรับเครื่องมือ เครื่องจักรในโรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และโรงงานผลิตอาหารสัตว์ โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายจากกรมปศุสัตว์ และมีการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ดังนี้
                (1) สำนักเครื่องสำอางค์และวัตถุอันตราย กระทรวงสาธารณสุข (สำนักเครื่องสำอางค์ฯ กระทรวงสาธารณสุข) จากการทดสอบผลิตภัณฑ์ “S” โดยการนำมาผสมน้ำในอัตราส่วน 1 : 160 นำไปฉีดพ่นพื้นแข็งที่ไม่มีรูพรุนทิ้งไว้ 10 นาที พบว่า มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ชื่อ SALMONELLA CHOLERAESUIS ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วงและท้องเสียในสุกรและสัตว์ปีก โรคโลหิตเป็นพิษและโรคลำไส้อักเสบในสุกรหย่านม หรือสุกรขุน ช่วงอายุ 10-16 สัปดาห์ และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคอหิวาต์สุกร โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้อักเสบติดต่อ และโรคท้องร่วงจากเชื้อ E.coli เป็นต้น และฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ชื่อ STAPHYLOCOCCUS AUREUS ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจในสุกรและสัตว์ปีก โรคปอดอักเสบ โรคเต้านมอับเสบ โรคมดลูกอับเสบ โรคไขกระดูกอับเสบ (OSTEOMYELITIS) โรคโพรงข้อต่อมีหนอง (PYOARTHROSIS) โรคการติดเชื้อบนกระแสเลือดและเยื่อบุหัวใจอับเสบ โรคลำไส้อักเสบ (ENTEROCOLITIS) โรคอาหารเป็นพิษและช็อก (TOXIC SHOCK SYNDROME,TSS) เป็นต้น
                (2) ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสัตว์แพทย์ ก. (ภาควิชาจุลชีวฯ ก.) จากการทดสอบผลิตภัณฑ์ “ S” โดยดำเนินการเจือจาง (DILUTION) ที่ความเข้มข้น 1 : 100 1 : 200 1 : 400 1 : 800 1 : 1,600 และ 1 : 3,200 และความเข้มข้นของเชื้อไวรัส 10-10 และใส่ยาฆ่าเชื้อลงไปหลุมละ 100 ไมโครลิตร พบว่า มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอส (PRRSV,PORCINC REPRODUCTIVE AND RESPIRATORY SYNDROME VIRUS) สายพันธุ์อเมริกาเหนือ ไอโซเลต และสายพันธุ์ยุโรป ไอโซเลต VR 2332 และ S2/54 ST-1 ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการของโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร ทำให้แม่สุกรแท้งลูกตายแรกคลอดสูง อัตราการ ผสมติดต่ำ ลูกสุกรแคระแกร็น โตช้า ติดโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนได้ง่าย และฆ่าเชื้อไวรัสพีดีอี (PDE,PORCINC EQIDEMIC DIARRHEA VIRUS) ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร
                (3) บริษัท ข.ศูนย์วิทยาศาสตร์ N-BUFFER พบว่า มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย SAIMONELLA ENTERITIDIS ATCC 13037 และ STAPHYLOCOCOCCUS AUREUS ATCC 6538 ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคสำคัญ เนื่องจากน้ำที่ใช้ในฟาร์มปศุสัตว์ส่วนใหญ่เป็นน้ำกระด้าง
          3. บริษัทฯ ได้ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายกับกรมปศุสัตว์ และแก้ไขฉลากสินค้า เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคในฟาร์มเลี้ยงสัตว์เท่านั้น บริษัทฯ เพื่อขอทราบว่า ผลิตภัณฑ์ “S” ถือเป็นยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับสัตว์ และได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (จ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย            กรณีบริษัทฯ ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนในใบสำคัญผลิตภัณฑ์“S” กับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความหัวข้อประโยชน์จาก “S เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สำหรับเครื่องมือ เครื่องจักร ในโรงฆ่าสัตว์ และโรงงานผลิตอาหารสัตว์” เป็น “S เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สำหรับพื้น ผนัง วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ ยานพาหนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์” ซึ่งใบขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายของบริษัทฯ จากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ปรากฏข้อความว่า วัตถุอันตรายดังกล่าวใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อวัตถุประสงค์ในการบำรุงรักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นยาหรือเคมีภัณฑ์เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว บริษัทฯ ผู้ผลิตและจำหน่ายจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (จ) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 81/40755

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020