เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/10876
วันที่: 16 พฤศจิกายน 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(2), มาตรา 50(1), มาตรา 50 ทวิ (2), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ
ข้อหารือ: 1. กรณีการสมัครเป็นสมาชิกของบริษัทขายตรงและสมาชิกได้รับส่วนลดตามเป้าที่ให้ใน
ภายหลังหรือรายการส่งเสริมการขาย สมาคมฯ ขอให้กรมสรรพากรให้จัดเก็บภาษีเช่นเดียวกับการขาย
สินค้าโดยทั่วๆไป โดยให้มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง
สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่าย
ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ
ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 และให้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเฉพาะส่วนที่มีจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาท
ขึ้นไป
2. สมาคมฯ ขอให้ทบทวนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 29/ 2538 เรื่อง
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินได้ที่เป็นส่วนลด และส่วนลดพิเศษที่บุคคลผู้รับทำงานให้ได้รับจากระบบขาย
ตรง ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 โดยสมาคมฯ ได้ให้เหตุผลว่าข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยดังกล่าว
คลาดเคลื่อน เพราะ
2.1 สมาชิกไม่ได้รับส่วนแบ่งกำไรร้อยละ 25 ของยอดขายปลีก แต่หากเมื่อสมาชิกซื้อ
สินค้าจากบริษัทขายตรง สมาชิกจะซื้อสินค้าได้ในราคาขายส่งซึ่งเป็นราคาที่ซื้อขายจริงตามที่ระบุไว้ใน
ใบรับและใบกำกับภาษี และมีบางบริษัทเท่านั้นจะแสดงราคาขายปลีกหักด้วยส่วนลดและระบุราคาสุทธิเป็น
ราคาขายส่ง
2.2 กรณีสมาชิกซื้อสินค้าไปใช้ส่วนตัวซึ่งจะได้รับส่วนลดตามเป้า โดยอาจเป็นส่วนลดทันที
หรือลดให้ภายหลัง ถือเป็นส่วนลดการค้าตามปกติเช่นธุรกิจโดยทั่วๆไป สมาคมฯ เห็นว่า ส่วนลดดังกล่าว
เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร
3. เพื่อบรรเทาภาระของสมาชิกบริษัทขายตรงในการจัดเก็บหนังสือรับรองการ หักภาษี ณ
ที่จ่ายจำนวนมากและเพื่อลดภาระความยุ่งยากของบริษัทขายตรงในการหักภาษีและออก
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สมาคมฯ จึงขอให้กรมสรรพากรอนุมัติการออกหนังสือ รับรองการหัก
ภาษี ณ ที่จ่าย ครึ่งปีหนึ่งใบ โดยให้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายภายใน วันที่ 15 สิงหาคม
ของปีและวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของปีถัดไป และขออนุมัติไม่ต้องลงลายมือชื่อ ในหนังสือรับรองการหักภาษี
ณ ที่จ่ายที่บริษัทขายตรงได้ออกให้กับสมาชิก
แนววินิจฉัย: 1. ตามข้อ 1 และข้อ 2 กรณีบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกของบริษัทขายตรงได้รับ ผลประโยชน์
จากบริษัทขายตรง ไม่ว่าจะเป็น ส่วนแบ่งกำไร ส่วนลด และส่วนลดพิเศษ เข้าลักษณะเป็นเงินได้
เนื่องจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้
ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40
แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไข
เพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544
2. ตามข้อ 3 การออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่บริษัทขายตรงได้ หักไว้แล้วใน
ปีภาษีให้แก่สมาชิกของบริษัทขายตรง บริษัทขายตรงมีสิทธิจะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้
ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ของปีถัดจากปีภาษี หรือภายในหนึ่งเดือนนับแต่ วันที่สมาชิกของบริษัทขายตรง
ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายออกจากงานในระหว่างปีภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 50 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
โดยหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายบริษัทขายตรงจะใช้พิมพ์ลายมือชื่อโดยไม่ลงลายมือชื่อเลยไม่ได้
ดังนั้น บริษัทขายตรงจึงไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการหักภาษีแต่ประการใด
3. กรณีที่สมาคมฯ แจ้งว่า ผู้จำหน่ายซึ่งเป็นสมาชิกของบริษัทขายตรงได้นำสินค้าไปใช้เอง
โดยมิใช่เพื่อขายต่อ ขอให้สมาคมฯ รวบรวมระเบียบหรือข้อบังคับของบริษัทสมาชิกทุกบริษัทส่งให้
กรมสรรพากรเพื่อพิจารณาในรายละเอียดต่อไปด้วย
เลขตู้: 64/31108


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020