เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/10198
วันที่: 24 ตุลาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทต่างประเทศเข้ามาให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือ
ออกแบบและพัฒนาหลักสูตรการสอนให้กับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505, มาตรา 83/6(1)
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้หารือกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทฯ
จ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัทต่างประเทศ ที่ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือออกแบบและพัฒนาหลักสูตร
การสอนให้กับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเชียที่บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นโดยได้รับอนุญาตจาก
ทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งกรมสรรพากรได้มีหนังสือตอบข้อหารือดังกล่าวแล้ว ต่อมาบริษัทฯ ขอชี้แจง
ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และขอให้พิจารณาข้อปฏิบัติทางด้านภาษีอากรเพิ่มเติม สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้
1. สัญญา Services Agreement ฉบับเดิมที่บริษัทฯ ทำกับ Imperial College of
Science, Technology and Medicine มหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของ
ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2539 เพื่อให้คำแนะนำและความช่วยเหลือรวมทั้งสนับสนุนใน
การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาบุคลากร การรับรองมาตรฐานผู้จบการศึกษา การควบคุมคุณภาพ และรักษา
คุณภาพให้ได้มาตรฐานสากล รวมถึงการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา และการดำเนินการวิจัยและ
กิจกรรมอื่น ๆ มีการต่ออายุสัญญาตามข้อตกลงเดิม โดยสัญญาฉบับใหม่ "Services Agreement
(Extension 1)" ทำขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2543 มีกำหนด 3 ปี
2. ในการให้บริการตามสัญญาดังกล่าว Imperial College ผู้ให้บริการจะส่งคณาจารย์
เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเป็นครั้งคราวเพื่อวางรูปแบบหลักสูตร ตรวจสอบมาตรฐานและประชุม
ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยฯ ปีละประมาณ 2-3 ครั้ง ๆ ละ 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ Imperial College
ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย การชำระค่าบริการกระทำโดยการที่บริษัทฯ โอนเงินผ่าน
ธนาคารเพื่อชำระแก่ ICON, the College's scientific services company ซึ่งเป็นบริษัท
ตัวแทนของ Imperial College
3. สัญญา Services Agreement (Extension 1) ที่ทำขึ้นใหม่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อ
คู่สัญญาในฝ่ายไทยฯ ตามสัญญา Services Agreement ฉบับเดิม เป็นมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และ
เทคโนโลยีแห่งเอเชีย
บริษัทฯ ได้หารือว่า กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น Imperial College จะมีภาระ
ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยหรือไม่ และมหาวิทยาลัยฯ ในฐานะผู้จ่ายเงิน
ค่าบริการดังกล่าวตามสัญญาฯ จะมีข้อปฏิบัติทางด้านภาษีอากรอย่างไร
แนววินิจฉัย: ภาระภาษีของ Imperial College และข้อปฏิบัติทางภาษีอากรของมหาวิทยาลัยฯ เป็นดัง
ต่อไปนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
หาก Imperial College มีถิ่นที่อยู่ในทางภาษีอากรในประเทศอังกฤษ และการ
ให้บริการให้คำแนะนำและความช่วยเหลือรวมทั้งสนับสนุนในการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาบุคลากร การ
รับรองมาตรฐานของการศึกษา การควบคุมคุณภาพและรักษาคุณภาพให้ได้มาตรฐานสากล รวมถึงการ
ดำเนินการวิจัยและกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกัน ไม่มีการถ่ายทอดข้อสนเทศหรือประสบการณ์ความรู้ทาง
อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ซึ่ง Imperial College มีสิทธิหวงกัน แต่อย่างใด
แล้ว ค่าตอบแทนจากการให้บริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ซึ่งหากการให้บริการตาม
สัญญาดังกล่าว Imperial College เพียงแต่ส่งคณาจารย์เข้ามาร่วมประชุมกับทางมหาวิทยาลัยฯ เป็น
ครั้งคราว ปีละ 2-3 ครั้ง ๆ ละ 1-2 สัปดาห์ กรณียังถือไม่ได้ว่า Imperial College มี
สถานประกอบการถาวรในประเทศไทย จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจาก
ค่าบริการที่ได้รับ ทั้งนี้ ตามข้อ 5 และข้อ 8 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน
ระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักรอังกฤษฯ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18)
พ.ศ. 2505 ดังนั้น มหาวิทยาลัยฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อนำส่งกรมสรรพากรแต่
อย่างใด 2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
เนื่องจากการให้บริการของ Imperial College ตามสัญญาฯ เข้าลักษณะเป็นการ
ให้บริการโดยผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งเข้ามาให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการ ชั่วคราว
ตามมาตรา 85/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น มหาวิทยาลัยฯ ในฐานะผู้จ่ายค่าบริการมีหน้าที่ต้อง
นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ Imperial College มีหน้าที่ต้องเสียในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา
83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ภายใน 7 วันนับแต่วัน
สิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินให้แก่ Imperial College
เลขตู้: 64/31082

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020