เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/10005
วันที่: 18 ตุลาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเป็นตัวแทนให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(2)(ข), มาตรา 67(2), คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544ฯ
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นตัวแทนให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศยานและเรือเดินทะเล
บริษัทฯ จะเสนอค่าระวางและค่าบริการที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น ค่าขึ้นตู้ ค่า ธรรมเนียมท่าของ
ต่างประเทศ รวมถึงค่าเอกสารและค่าบริการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเพื่อเรียกเก็บจากลูกค้า และ
เนื่องจากการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศกรณีการนำเข้าสำหรับสายการบินและสายการเดินเรือได้รับ
ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 67(2) แห่งประมวลรัษฎากร จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้หัก ณ
ที่จ่ายสำหรับค่าระวางและค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ จึงหารือว่า
1. กรณีบริษัทฯ เป็นตัวแทนให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ในการนำเข้าสินค้า บริษัทฯ
จะถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับค่าระวางและค่าบริการอื่น ๆ หรือไม่
2. บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าระวางและค่าบริการที่เสนอ ลูกค้าเพื่อ
เรียกเก็บเป็นค่าขนส่งระหว่างประเทศในกรณีนำเข้าสินค้าหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีการจ่ายเงินค่าขนส่งสินค้า (Freight) ให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้น
ตามกฎหมายของต่างประเทศ กระทำกิจการขนส่งผ่านประเทศต่าง ๆ ซึ่งรับขนสินค้าเข้ามาใน
ประเทศไทย ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.
101/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ประกอบกับคำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การ
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 เรื่อง สั่ง ให้ผู้จ่ายเงินได้พึง
ประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 20 กรกฎาคม
พ.ศ. 2544 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ซึ่งเป็นตัวแทนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้รับค่าขนส่งสินค้าและ
ค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการรับขนสินค้าเข้ามาในประเทศไทย จึงไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่ายแต่อย่างใด
2. กรณีบริษัทฯ เป็นตัวแทนให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศยานและ
เรือเดินทะเล มีการขนส่งสินค้าเข้ามาในประเทศไทยและขนส่งสินค้าออกนอกประเทศไทย การขนส่ง
ดังกล่าวเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ฐานภาษีที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการขนส่งสินค้า
ระหว่างประเทศ ให้นำมาเฉพาะมูลค่าของค่าระวาง ค่าธรรมเนียมและประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บไม่ว่า
ในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนสินค้านั้นออกนอกราชอาณาจักรเท่านั้น
ดังนั้น กรณีการขนส่งสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร บริษัทฯ ไม่ต้องนำฐานภาษีอันเกิดจากการรับขน
สินค้าเข้าดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามมาตรา 79/1(2)(ข) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 64/31059

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020