เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/9967
วันที่: 17 ตุลาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการประกอบอาชีพพยาบาล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(2)
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรจังหวัดได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการ
ประกอบอาชีพพยาบาล ราย นาง ป. โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า นาง ป. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี
โดยแสดงรายการมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)(4) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากร และจาก
การวิเคราะห์แบบในส่วนเงินได้ตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร ปรากฏว่า นาง ป. ได้
ทำงานที่อื่นนอกเหนือจากการเป็นพยาบาลสังกัดส่วนราชการ โดยได้ทำสัญญา 2 ฉบับดังนี้
1. สัญญาว่าจ้างพยาบาล ลงวันที่ 1 มกราคม 2542 ระหว่างบริษัท ก. จำกัด ผู้ว่าจ้าง
และนาง ป. ผู้รับจ้าง โดยมีข้อตกลงสรุปได้ว่า ผู้ว่าจ้างได้ตกลงว่าจ้างให้ผู้รับจ้างดูแลรักษาพยาบาล
ลูกค้าและพนักงานของบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2542 และผู้ว่าจ้าง
จะจ่ายค่าจ้างให้กับผู้รับจ้าง โดยคิดตามวันและเวลาที่มาปฏิบัติงาน อัตราค่าจ้างคิดเป็นรายชั่วโมง
ชั่วโมงละ 88 บาท วันเวลาปฏิบัติงานคือวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. - 21.00 น. และวันอาทิตย์
ตั้งแต่เวลา 08.30 น. - 13.00 น. หากในวันที่ผู้รับจ้างไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้ผู้รับจ้างต้องหา
บุคคลที่มีความสามารถในด้านวิชาชีพพยาบาลเท่ากันหรือดีกว่ามาปฏิบัติงานแทน
2. สัญญาว่าจ้างพยาบาล ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2542 ระหว่าง บริษัท ข. จำกัด ผู้ว่าจ้าง
และนาง ป. ผู้รับจ้าง โดยมีข้อตกลงสรุปได้ว่า ผู้ว่าจ้างประสงค์จะว่าจ้างให้ผู้รับจ้างรักษาพยาบาล
ลูกจ้างและพนักงานของผู้ว่าจ้าง ณ โรงงานของผู้ว่าจ้าง สัญญาเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2542 และ
สิ้นสุดวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 ผู้รับจ้างตกลงที่จะทำงานการรักษาพยาบาล วันจันทร์ - วันศุกร์ ตั้งแต่
เวลา 08.45 น. ถึง 17.45 น. และผู้ว่าจ้างตกลงที่จะจ่ายค่าตอบแทนเพื่อผลสำเร็จของงานตาม
สัญญาให้แก่ผู้รับจ้างเป็นจำนวนเงิน 700 บาทต่อวัน
จังหวัดฯ มีความเห็นว่า ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว นาง ป. ได้รับค่า ตอบแทนเป็น
ค่าจ้างจากการรับจ้างรักษาพยาบาลลูกจ้างและพนักงานของบริษัทฯ ผู้ว่าจ้าง โดยคำนวณจากการปฏิบัติ
งานตามจำนวนชั่วโมงการปฏิบัติงานที่บริษัทฯ ผู้ว่าจ้างได้กำหนดไว้ เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจาก
หน้าที่งานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าหน้าที่หรืองานที่ทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว
ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีมิใช่เงินได้จากวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลปะ ตาม
มาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย: สัญญาจ้างรักษาพยาบาลทั้งสองฉบับดังกล่าวข้างต้น มีสาระสำคัญของสัญญาสรุปได้ว่า ผู้รับจ้าง
รับจ้างรักษาพยาบาลลูกค้า ลูกจ้างและพนักงานของ บริษัทฯ ผู้ว่าจ้าง และ ผู้ว่าจ้างตกลงที่จะจ่าย
ค่าตอบแทนเพื่อผลสำเร็จของงาน โดยคำนวณจากการปฏิบัติงานตามจำนวนชั่วโมงการปฏิบัติงานที่บริษัทฯ
ผู้ว่าจ้างได้กำหนดไว้ ดังนั้น เงินได้ที่ผู้รับจ้างได้รับตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงเข้าลักษณะเป็น
เงินได้จากการรับจ้างทำงานให้เป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 64/31045


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020