เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/9964
วันที่: 17 ตุลาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินช่วยเหลือค่าโทรศัพท์ให้แก่พนักงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (13)
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และเป็นผู้ประกอบกิจการ
ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล และคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ
ประจำปี เนื่องจากในการดำเนินกิจการของบริษัทฯ ทำให้พนักงานบางหน่วยงานมีความจำเป็นต้องมีการ
ติดต่อสื่อสารระหว่างกันเอง และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทั้งในและนอกเวลาทำการ พนักงานจึงมี
ความจำเป็นต้องนำโทรศัพท์และหรือเครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ ที่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพนักงานเองมาใช้
ติดต่อสื่อสารเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อการทำงานในกิจการ บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงภาระ
ค่าใช้จ่ายดังกล่าวของพนักงาน จึงได้มีระเบียบการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าโทรศัพท์ โดยพนักงานจะต้องนำ
ใบเสร็จรับเงินและใบแจ้งค่าบริการฉบับจริงมาแสดงกับบริษัทฯ ทุกครั้งที่ทำการขอเบิกจ่ายเงิน ดังนี้
1. ค่าบริการโทรศัพท์ และเครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ ในกรณีต่างพื้นที่หรือระหว่างประเทศซึ่งผู้
เรียกเก็บเงินจะมีรายละเอียด วัน เวลา สถานที่ และเลขหมายที่ได้ติดต่อแสดงไว้ทุกรายการในใบแจ้ง
ค่าบริการ บริษัทฯ ได้กำหนดให้พนักงานระบุชื่อลูกค้ากำกับไว้ที่เลขหมายดังกล่าวทุก ๆ เลขหมายที่ใช้ใน
กิจการ
2. ค่าบริการโทรศัพท์ และเครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ ในกรณีพื้นที่เดียวกันและ อื่น ๆ ที่ไม่รวม
ในข้อ 1 บริษัทฯ จ่ายชดเชยให้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1,000 บาท
บริษัทฯ หารือว่า เงินช่วยเหลือดังกล่าวที่บริษัทฯ ได้ทำการจ่ายไปนี้สามารถนำมาบันทึกเป็น
รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรได้หรือไม่ และบริษัทฯ
มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ เพราะเหตุใด
แนววินิจฉัย: กรณีที่บริษัทฯ จ่ายค่าบริการโทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ ให้แก่พนักงานเพื่อช่วยเหลือ
เนื่องจากพนักงานได้นำโทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสารส่วนตัวมาใช้ในกิจการของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ ได้มี
ระเบียบการเบิกจ่ายเงินดังกล่าวนั้น หากบริษัทฯ มีหลักฐานพิสูจน์ได้โดยชัดแจ้งว่า บริษัทฯ เป็นผู้จ่ายไป
และเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการแล้ว บริษัทฯ มีสิทธิ์นำค่าบริการดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ
กำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีดังกล่าว ไม่ถือเป็น
ประโยชน์เพิ่มของพนักงาน ฉะนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการคืนให้พนักงาน บริษัทฯ จึงไม่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
เลขตู้: 64/31042


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020