เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./9857
วันที่: 12 ตุลาคม 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนสินค้าภายในหน่วยงานเดียวกัน โดยมีการออกใบกำกับภาษีขายและนำภาษีซื้อไปใช้คำนวณภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(8), มาตรา 86/13
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคแจ้งว่าได้รับคำอุทธรณ์ภาษีมูลค่าเพิ่มของโรงงานวัตถุระเบิดทหารฯ
คัดค้านการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนมิถุนายน 2540 และเดือนกันยายน 2540 โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
1. โรงงานวัตถุระเบิดทหารฯ สังกัดกรมการอุตสาหกรรมทหารศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกัน
ประเทศและพลังงาน ก่อตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2525 เป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อ
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ดำเนินการผลิตวัตถุระเบิดและกระสุน เพื่อจำหน่ายให้แก่
ส่วนราชการและเอกชน โรงงานวัตถุระเบิดทหารฯ จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อ
วันที่ 3 มกราคม 2536 มีสถานประกอบการตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ 4 ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ มีการบริหารงานภายในแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ หน่วยงานเงินงบประมาณ และ
หน่วยงานเงินทุนหมุนเวียน (กองโรงงาน)
2. เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2541 สำนักงานสรรพากรจังหวัดไปตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่ม
และพบว่าในเดือนมิถุนายน 2540 และกันยายน 2540 หน่วยงานเงินงบประมาณได้ออกใบกำกับภาษีขาย
ในนามของโรงงานวัตถุระเบิดทหารฯ เป็นผู้ขายให้กับหน่วยงานเงินทุนหมุนเวียน (กองโรงงาน) ใน
นามของโรงงานวัตถุระเบิดทหารฯ เป็นผู้ซื้อโดยมิได้นำยอดขายและภาษีขายไปยื่นแบบแสดงรายการเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ได้นำรายได้จากการขายและภาษีขายนำส่งคลังจังหวัดในบัญชีเงินทุนหมุนเวียนของ
โรงงานวัตถุระเบิดทหารฯ สำหรับใบกำกับภาษีขายดังกล่าวโรงงานวัตถุระเบิดทหารฯ ได้นำไปยื่นแบบ
เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งสำนักงานสรรพากรจังหวัดได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการขายและมิได้รับ
การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้มีการออกใบกำกับภาษี
ขายโรงงานวัตถุระเบิดทหารฯ ต้องนำยอดขายและภาษีขายไปยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึง
ประเมินเรียกเก็บภาษีพร้อมเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4)แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนกรณีโรงงาน
วัตถุระเบิดทหารฯ ได้นำใบกำกับภาษีดังกล่าวขอคืนเป็นภาษีซื้อ จังหวัดได้ประเมินเรียกเก็บภาษีและ
เบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย: 1. การโอนสินค้าของโรงงานวัตถุระเบิดทหารฯ ในระหว่างหน่วยงานเงินงบประมาณกับ
หน่วยงานเงินทุนหมุนเวียนไม่ถือเป็นการขายตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะ
หน่วยงานทั้งสองถือเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนเดียวกัน หน่วยงานที่โอนสินค้าจึงไม่ต้อง
ออกใบกำกับภาษีหรือนำยอดสินค้าไปแสดงเป็นยอดขายและภาษีขาย และหน่วยงานที่รับโอนสินค้าก็ไม่ต้อง
นำยอดสินค้าที่รับโอนไปแสดงเป็นยอดซื้อและภาษีซื้อ
2. การที่หน่วยงานเงินงบประมาณ ออกใบกำกับภาษีให้แก่หน่วยงานเงินทุนหมุนเวียนถือว่า
เป็นการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย จึงต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่
ปรากฏในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของ
จำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 89(6) แห่งประมวลรัษฎากร และการที่โรงงานวัตถุระเบิด
ทหารฯ ยื่นแบบแสดงรายการแจ้งยอดภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวถือว่าเป็นการแจ้งยอดภาษีซื้อใน
เดือนภาษีเกินไป ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แจ้งไว้เกินไปตามมาตรา 89(4)
แห่งประมวลรัษฎากร
3. เนื่องจากโรงงานวัตถุระเบิดทหารฯ ได้นำรายได้จากการขายและภาษีขายตาม
ใบกำกับภาษีดังกล่าวนำส่งคลังจังหวัดในบัญชีเงินทุนหมุนเวียนของโรงงานวัตถุระเบิดทหารฯ จึงเป็นการ
ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิและการแจ้งยอดภาษีซื้อในเดือนภาษีเกินไปอันเกิดจากความสำคัญผิดและ
มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี จึงให้เสนอคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพื่องดเบี้ยปรับทั้งนี้ตามข้อ 11 ของ
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้
ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และ
มาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2542 และโรงงานวัตถุระเบิด
ทหารฯ ไม่มีความผิดตามมาตรา 90/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะได้ออกใบกำกับภาษีโดยมิได้
เจตนาจะกระทำผิด แต่กระทำไปโดยสำคัญผิดและไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร
สำหรับจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีจากการกระทำความผิดกรณีออกใบกำกับภาษี
โดยไม่มีสิทธิตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ใช้ดุลยพินิจยกเว้นความรับผิดดังกล่าวแต่อย่างใด
เลขตู้: 64/31017


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020