เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/9812
วันที่: 11 ตุลาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ของครูชาวอังกฤษที่เข้ามาสอนในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา, (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
ข้อหารือ: นาง เอ เป็นบุคคลสัญชาติอังกฤษ ถือหนังสือเดินทางเลขที่ 00000444 หนังสืออนุญาตทำงาน
เลขที่ 91/42 ออก ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 (1999) ประกอบอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษ ได้ทำ
สัญญาจ้างงานกับบริษัท เอ็มบีเอฟ จำกัด เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้ทำการสอน ณ โรงเรียน
นานาชาติ โดยเริ่มเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยเมื่อเดือน สิงหาคม 2542 และสัญญาสิ้นสุดในวันที่ 31
สิงหาคม 2544(2001) ซึ่งขณะนี้ นาง เอ ได้เตรียมตัวเดินทางกลับประเทศอังกฤษภายหลังจากสัญญา
สิ้นสุดลง และจะกลับเข้ามาประเทศไทยอีก เพื่อต่อสัญญาและเริ่มงานอีกครั้ง ทั้งนี้ ได้อ้างถึงหนังสือตอบ
ข้อหารือของกรมสรรพากร ที่ กค 0811/1556 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2544 โดยมีข้อสงสัยใน
รายละเอียดของหนังสือฉบับดังกล่าว จึงหารือมาดังนี้
1. ตลอดระยะเวลา 2 ปี แรกของการทำงานในประเทศไทย นาง เอ ได้รับการ ยกเว้น
การชำระภาษีเงินได้ ถูกต้องหรือไม่
2. นาง เอ จะต้องชำระภาษีเงินได้ต่อกรมสรรพากรในกรณีที่เริ่มทำงานในปีที่ 3 และปีต่อ ๆ
ไป ถูกต้องหรือไม่
3. ถ้าหากบริษัทนายจ้างได้หักเงินรายได้ไว้บางส่วน เพื่อเป็นการชำระภาษีแก่กรมสรรพากร
มาโดยตลอด 2 ปี นาง เอ จะมีสิทธิได้รับเงินในส่วนนี้คืนหรือไม่ (จากทางบริษัท นายจ้าง)
แนววินิจฉัย: ตามข้อ 21 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับสห
ราชอาณาจักรอังกฤษฯ ได้กำหนดให้ศาสตราจารย์หรือครู ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในสหราชอาณาจักรอังกฤษที่
เดินทางเข้ามาทำการสอนหรือวิจัยในมหาวิทยาลัย วิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับใน
ประเทศไทย โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
เพื่อทำการสอนหรือวิจัยดังกล่าว ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย สำหรับเงิน
ค่าตอบแทนดังกล่าว ดังนั้น กรณีข้อหารือจึงพิจารณาได้ดังนี้
1. ในกรณีที่นาง เอ เข้ามาทำการสอนในประเทศไทย มีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีนับจากวันที่
ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก โดยนาง เอ จะต้องเดินทางออกจากประเทศไทยก่อนหรือ
เมื่อครบกำหนด 2 ปี นาง เอ จะได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่แรกที่เข้ามา
เยือนประเทศไทย ตามข้อ 21 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาดังกล่าว และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505
2. ในกรณีที่นาง เอ เข้ามาทำการสอนครั้งแรกในประเทศไทย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี
โดยนาง เอ ได้เดินทางออกจากประเทศไทยก่อนหรือเมื่อครบกำหนด 2 ปีแล้ว หากนาง เอ เดินทาง
กลับเข้ามาสอนในประเทศไทยอีกในปีที่ 3 หรือปีต่อ ๆ ไป แม้จะมีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ก็จะไม่ได้รับ
การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกแต่อย่างใด เพราะข้อ 21 วรรคหนึ่งแห่งอนุสัญญาดังกล่าว ให้
การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการเข้ามาสอนเป็นครั้งแรก ซึ่งมีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี
เท่านั้น
อย่างไรก็ดี หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเดินทางออกจากประเทศไทยของ นาง เอ
ก่อนหรือเมื่อครบกำหนด 2 ปีดังกล่าว เป็นการเดินทางออกจากประเทศไทยชั่วคราว โดยนาง เอ จะ
เดินทางกลับเข้ามายังประเทศไทย เพื่อต่อสัญญาการจ้างและเริ่มทำงานในปีที่ 3 หรือปีต่อ ๆ ไปแล้ว
กรณีย่อมถือได้ว่าการเดินทางเข้ามาทำการสอนในประเทศไทยดังกล่าว มีลักษณะเป็นงานที่กระทำ
ต่อเนื่องกันไปจากงานการสอนเดิม โดยมีระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่ได้ เดินทางเข้ามาใน
ประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งจะมีผลทำให้นาง เอ มิได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใน
ประเทศไทยสำหรับค่าตอบแทนในการสอนมาตั้งแต่ต้น
3. กรณีหากบริษัทนายจ้างหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายจากนาง เอ และนำส่งแล้ว
โดยสำคัญผิด นาง เอ มีสิทธิยื่นคำร้อง (แบบ ค.10) ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่มี ภูมิลำเนา หรือ ณ
สถานที่อื่นตามที่อธิบดีกำหนด เพื่อขอคืนเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่ง
กำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ นับแต่วันที่ 31 มีนาคม
ของปีถัดจากปีที่มีเงินได้ อนึ่ง หากนาง เอ ไม่สะดวกในการมาดำเนินการยื่นคำร้องฯ ด้วยตนเอง และ
ประสงค์ให้บริษัทนายจ้างหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ มาดำเนินการแทนก็ย่อมกระทำได้ โดยทำ
หนังสือมอบอำนาจให้ไว้ก่อนเดินทางกลับประเทศอังกฤษ และให้บริษัท นายจ้างรับรองในใบมอบอำนาจ
ว่าลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจดังกล่าวเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของ ผู้มอบอำนาจ
เลขตู้: 64/30996


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020