เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./9324
วันที่: 24 กันยายน 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ต)
ข้อหารือ: บริษัท ธ. ได้ทำสัญญาแบ่งเช่าช่วงห้องพักอาศัยในอาคาร ร. ให้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด
เพื่อเป็นการชำระหนี้บางส่วนตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2543 ตาม
หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดไว้
โดยมีการทำสัญญาแบ่งเช่าช่วงห้องพักอาศัยจำนวน 121 ห้อง มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 27 ปี 1
เดือน 16 วัน จดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2543 ห้องพักอาศัย
จำนวน 121 ห้องดังกล่าว อยู่ในอาคารสูง 30 ชั้น ซึ่งบริษัท ธ. ได้เช่าที่ดินของสำนักพระราชวัง
(สำนักงานพระคลังข้างที่) สร้างอาคาร ร. อาคารดังกล่าวบริษัท ธ. ได้ติดต่อขออนุญาตปลูกสร้างใน
นามของสำนักงานพระคลังข้างที่ โดยบริษัท ธ. เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้วยทุนทรัพย์ของ
ตนเองทั้งสิ้นจนเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ ปัจจุบันบริษัท ธ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารดังกล่าว และ
มีสิทธินำห้องพักอาศัยจำนวน 300 ห้อง ในอาคารดังกล่าวออกไปให้บุคคลรายเดียวหรือหลายราย
เช่าช่วงทั้งหมดหรือบางส่วนได้มีกำหนดเวลา 30 ปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 เมื่อธนาคารฯ ได้ทำ
สัญญาแบ่งเช่าช่วงห้องพักอาศัยจำนวน 121 ห้อง จากบริษัท ธ. ธนาคารฯ มิได้ใช้ประโยชน์ในห้องพัก
อาศัยดังกล่าว จึงต้องการจำหน่ายออกไปตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ โดยวิธีการให้บุคคลอื่น
เช่าช่วง ซึ่งในการนี้บริษัทฯ ได้รับมอบหมายจากธนาคารฯ ให้เป็นผู้ดำเนินการนำห้องพักอาศัยจำนวน
121 ห้องนี้ไปให้แก่บุคคลอื่นเช่าช่วงต่อไปบริษัทฯ จึงขอทราบว่ากรณีธนาคารฯ นำห้องพักอาศัยไปให้
บุคคลอื่นเช่าช่วงจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ เนื่องจากบริษัทฯ จะต้องประสานงานกับธนาคารฯ
และผู้เช่าช่วงดำเนินการชำระภาษีให้ถูกต้องต่อไป
แนววินิจฉัย: ตามข้อเท็จจริงบริษัท ธ. ได้เช่าที่ดินของสำนักพระราชวัง (สำนักงานพระคลังข้างที่)
ปลูกสร้างอาคาร ร. โดยปัจจุบันบริษัท ธ. ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารดังกล่าว และมีสิทธินำ
ห้องพักอาศัยจำนวน 300 ห้องในอาคารดังกล่าวให้บุคคลอื่นเช่าช่วงทั้งหมดหรือบางส่วนได้มีกำหนดเวลา
30 ปี ต่อมาบริษัท ธ. ทำสัญญาแบ่งเช่าช่วงห้องพักอาศัย จำนวน 121 ห้อง ที่อยู่ในอาคาร ร. ให้กับ
ธนาคารฯ เพื่อชำระหนี้ระหว่างกันตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ธนาคารฯ มิได้ใช้ประโยชน์ใด ๆ
ในห้องพักอาศัยดังกล่าว จึงต้องการจำหน่ายออกไปโดยวิธีการให้บุคคลอื่นเช่าช่วง จึงมอบหมายให้บริษัทฯ
เป็นผู้ดำเนินการนำห้องพักอาศัยจำนวน 121 ห้องดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วงต่อไป กรณีธนาคารฯ
ให้บุคคลภายนอกเช่าช่วงห้องพักอาศัย เข้าลักษณะเป็นการประกอบ กิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงได้
รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าเช่าดังกล่าวตามมาตรา 81(1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 64/30940

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020