เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/9198
วันที่: 19 กันยายน 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากหุ้นปันผล (Stock Dividends)
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39, มาตรา 40(4)(ข), มาตรา 50(2)(จ), มาตรา 48(3) วรรคสอง, มาตรา 47 ทวิ
ข้อหารือ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหารือกรณีหลักเกณฑ์การเก็บภาษีหุ้นปันผล ดังมีข้อเท็จจริงสรุป
ได้ดังนี้
1. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานหลายแห่งในการดำเนินมาตรการหลาย
ประการเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มมากขึ้นรวมทั้งเอื้ออำนวยและบรรเทาภาระของ
บริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่สนใจเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ หนึ่งในมาตรการดังกล่าวคือการ
สนับสนุนการออกหุ้นปันผล (Stock Dividends) โดยเห็นว่าหุ้นปันผลจะช่วยให้บริษัทจดทะเบียนมีทาง
เลือกในการจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น ทำให้บริษัทที่มี ผลประกอบการดีแต่มีความจำเป็นต้องรักษา
สภาพคล่องเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สามารถเลือกออกหุ้นปันผลแทนการจ่ายเงินปันผลโดยไม่ต้อง
พึ่งพาแหล่งเงินทุนภายนอกอันมีอยู่อย่างจำกัดและมีต้นทุนทางการเงิน ในขณะเดียวกันผู้ถือหุ้นยังคงได้รับ
ผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งในระยะยาวมาตรการนี้จะช่วยขยายฐานของผู้ลงทุนและเป็นการขยาย
ฐานภาษีอีกด้วย
2. อย่างไรก็ตามการออกหุ้นปันผลในปัจจุบันยังมีประเด็นเกี่ยวกับภาระภาษีที่เกี่ยวข้อง คือ
2.1 ภาระภาษีหุ้นปันผล ตามที่ในปัจจุบันผลตอบแทนจากการลงทุนในรูป เงินปันผลถือเป็น
รายได้ที่ผู้ลงทุนจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าเงินปันผลที่ได้รับ แต่ผู้ลงทุนที่
เป็นบุคคลธรรมดาอาจเลือกนำเงินปันผลไปรวมคำนวณเป็นเงินได้ตอนสิ้นปีหรือไม่ก็ได้ ซึ่งหากเลือกนำไป
รวมคำนวณเป็นเงินได้ตอนสิ้นปีก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการเครดิตภาษีเงินปันผลนั้น ในส่วนของหุ้น
ปันผลที่ผู้ลงทุนได้รับจากบริษัทจดทะเบียนจะ ถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีในลักษณะเดียวกับเงินปันผล
หรือไม่เนื่องจากมีแนวคิดว่าในทาง เศรษฐศาสตร์และทางบัญชีแล้ว หุ้นปันผลไม่ถือเป็นเงินได้ของผู้ถือหุ้น
เนื่องจากหุ้นปันผลไม่ได้ทำให้สถานะทางการเงินของผู้ถือหุ้น (Shareholders' Wealth)เปลี่ยนแปลง
ไปเนื่องจากเป็นการโอนมูลค่าหุ้นจากบัญชีกำไรสะสมไปบัญชีมูลค่าหุ้นสามัญและบัญชีส่วนเกินมูลค่าหุ้น
เท่านั้น และแม้ว่า ผู้ถือหุ้นจะมีจำนวนหุ้นครอบครองมากขึ้นจากหุ้นปันผลที่ได้รับ แต่การจ่ายหุ้นปันผลจะ
ทำให้ราคาของหุ้นลดลงด้วย ซึ่งจะเป็นผลให้มูลค่าทรัพย์สินรวมของผู้ถือหุ้นทั้งในช่วงก่อนและหลังได้รับ
หุ้นปันผลไม่มีการเปลี่ยนแปลง
2.2 มูลค่าหุ้นปันผล หากหุ้นปันผลถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีแล้ว มูลค่า หุ้นปันผลที่จะนำ
มาคำนวณภาษีเงินได้ต้องใช้เกณฑ์พิจารณาอย่างไร ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์เห็นว่า การใช้ราคาตลาดหรือ
ราคาตามบัญชี (Book Value) หรือราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) ต่างมีประเด็นโต้แย้งถึง
ความเหมาะสม เช่น หากใช้ราคาตามบัญชีเป็นเกณฑ์ในการประเมินมูลค่า หุ้นปันผล ก็มีประเด็นว่าควร
เป็นราคาตามบัญชีก่อนหรือหลัง Dilution ซึ่งหากตีความว่าเป็นราคาก่อนเกิด Dilution ก็จะเกิด
ความไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นหรือหากใช้ราคาตลาดในวันที่ได้แก้ไขทะเบียนผู้ถือหุ้นในบริษัทมาเป็นเกณฑ์ใน
การประเมินหุ้นปันผลก็อาจมีข้อโต้แย้งว่า ราคาตลาดนั้นอาจยังไม่ได้สะท้อนถึงราคาที่แท้จริงที่ผู้ถือหุ้นจะ
ได้รับ เป็นต้น ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์จึงเห็นว่าควรคำนวณมูลค่าหุ้นปันผล ดังนี้ มูลค่าหุ้น = จำนวนเงินกำไรสะสมที่บริษัทตัดออกจากบัญชีเพื่อโอนไปเป็นทุน
จำนวนหุ้นปันผลทั้งหมด ซึ่งแนวทางนี้จะเกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับกรณีเงินปันผล ในขณะเดียวกันก็
ไม่มีผลกระทบต่อรายได้ของรัฐ
แนววินิจฉัย: 1. หุ้นปันผล เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และ
เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อผู้จ่ายจ่าย
เงินได้ดังกล่าวให้แก่ผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษีในอัตรา ร้อยละ 10 ของเงินได้
ดังกล่าวตามมาตรา 50(2)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร
ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยมีสิทธิเลือกนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็น
เงินได้เพื่อเสียภาษีได้ตามมาตรา 48(3) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และในกรณี ที่ผู้จ่ายเป็น
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หากผู้มีเงินได้เลือกนำเงินได้ ดังกล่าวไปรวม
คำนวณภาษีก็จะมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
2. มูลค่าหุ้นปันผลแต่ละหุ้นที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้รับจะมีค่าเท่ากับจำนวนเงิน
กำไรสะสมที่บริษัทผู้จ่ายหุ้นปันผลตัดออกจากบัญชีเพื่อโอนไปเป็นทุนหารด้วยจำนวนหุ้นปันผลทั้งหมดที่ออกใน
คราวนั้น
เลขตู้: 64/30933


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020