เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/9136
วันที่: 18 กันยายน 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีของดเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 67 ตรี
ข้อหารือ: สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ ได้ส่งเรื่องของดเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี แห่ง
ประมวลรัษฎากร ราย บริษัท ด. (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้กรมสรรพากรพิจารณา สรุป
ข้อเท็จจริงได้ดังนี้
1. ข้อเท็จจริง
(1) บริษัท ด. (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนนิติบุคคล เมื่อวันที่ 14 มกราคม
2541 และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2541 ประกอบกิจการนำเข้าและจำหน่าย
อะไหล่ และรถยนต์ยี่ห้อ เมอร์เซเดสเบนซ์ และจิ๊ป ในปี พ.ศ. 2541 อยู่ในระหว่างการจัดตั้งกิจการ
ยังไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการและเริ่มประกอบกิจการในปี 2542
(2) บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องของดเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ที่
สพท. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2543 กรณียื่นประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ
ในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2542 โดยชี้แจงเหตุผลดังนี้
ก. บริษัทฯ เริ่มประกอบกิจการในปี 2542 และขณะนั้น บริษัทฯ มีปัญหา เกี่ยวกับ
การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทย ซึ่งยังไม่สามารถตกลงกับตัวแทนจำหน่ายเดิมได้ และราคารถยนต์ที่
นำเข้าบางรุ่นอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกรมศุลกากร ทำให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2542 ก่อน
การยื่นแบบครึ่งปี บริษัทฯ จำหน่ายรถยนต์ได้เพียง 226 คัน
ข. ภายหลังจากบริษัทฯ ได้ยื่นแบบครึ่งปีของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 ปรากฏว่า
บริษัทฯ ได้ทำความตกลงกับตัวแทนจำหน่ายเดิมได้ และราคารถยนต์ที่นำเข้าส่วนใหญ่ได้รับการพิจารณา
จากกรมศุลกากรเรียบร้อย ประกอบกับลูกค้าได้เริ่มสั่งซื้อรถยนต์ของบริษัทฯ เนื่องจากรถยนต์ของบริษัทฯ
ขาดตลาดมาเป็นเวลานานมีผลทำให้ ยอดขายของบริษัทฯ ในช่วงเวลา 4 เดือนหลังของปี 2542 สูงถึง
866 คัน
2. ความเห็นของ สพท.
สพท. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและเหตุผลประกอบกับแนวทางการพิจารณาตามบันทึกที่
กค 0814/3892 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2539 เรื่อง แนวทางการพิจารณา "เหตุอันสมควร" ตามมาตรา
67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เห็นว่า บริษัทฯ เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการในรอบระยะเวลา 6
เดือนหลัง ของรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ จึงเห็นควรงดเงินเพิ่มตาม
มาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ให้บริษัทฯ ตามที่ขอ
3. ความเห็นของภาค
กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ของรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2542
ประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ (ร้อยละ 73.16) โดยมีเหตุอันสมควร
ไม่ต้องรับผิดเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีเหตุผลดังนี้
1. ในช่วงเดือนมกราคม - สิงหาคม 2542 บริษัทฯ ขายรถยนต์ได้ 226 คัน ซึ่งขณะนั้น
ราคารถยนต์ที่นำเข้าส่วนใหญ่ไม่ผ่านการอนุมัติจากกรมศุลกากร และยังไม่สามารถตกลง ซื้อรถยนต์จาก
ตัวแทนจำหน่ายเดิม (บริษัท ธ. จำกัด) ได้ แต่ต่อมาในเดือนกันยายน 2542 กรมศุลกากรได้อนุมัติให้
บริษัทฯ นำเข้ารถยนต์ได้ และบริษัทฯ สามารถตกลงซื้อ รถยนต์จากตัวแทนจำหน่ายเดิมได้ ทำให้ใน
เดือนกันยายน - ธันวาคม 2542 บริษัทฯ จำหน่ายรถยนต์ได้มากถึง 866 คัน
2. บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 สำหรับรายรับเดือน
มกราคม - สิงหาคม เป็นเงิน 1,320,211,938.59 บาท และรายรับเดือนกันยายน - ธันวาคม เป็น
เงิน 2,825,403,303.66 บาท และรายรับของบริษัทฯ จะสูงมากในเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2542
ภาค เห็นว่า กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้ว่ามีเหตุอันสมควร จึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม
ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร นั้น
แนววินิจฉัย: กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่บริษัทฯ ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้าและเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจาก
บริษัทฯ ได้ยื่นประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 แล้ว ถือได้ว่า บริษัทฯ ได้ยื่นประมาณการ
กำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการโดยมีเหตุอัน สมควร ไม่ต้องเสีย
เงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 64/30928

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020