เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./8470
วันที่: 30 สิงหาคม 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำภาษีซื้อมาเครดิตภาษีขาย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 85, มาตรา 86/4, มาตรา 82/3, มาตรา 85
ข้อหารือ: การประปานครหลวงได้รับใบกำกับภาษีจากการจ่ายค่าตอบแทนตามข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
1. การประปาฯ ได้ทำสัญญาแบบจ้างจัดหาและติดตั้งเครื่องสูบน้ำพร้อมอุปกรณ์อื่นตามสัญญา
E-NIP-TR2 กับ K วงเงินค่างาน 327,291,936 เยน และ 20,687,900 บาท (รวมเงินสำรอง)
การจ่ายเงินแบ่งออกเป็น 8 งวด ในส่วนของเงินบาท การประปาฯ จะจ่ายโดยเช็คธนาคาร กรุงไทย
จำกัด (มหาชน) และส่วนของเงินเยน การประปาฯ จะจ่ายโดยใช้เงินกู้ JAPAN BANK FOR
INTERNATIONAL COOPERATION (JBIC) โดยการประปานครหลวงจะแจ้ง JBIC ให้โอนเงินให้
ผู้รับจ้างโดยตรง โดยค่างานส่วนที่ใช้เงินกู้ JBIC ผู้รับจ้างจะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
ตามมาตรา 80/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร
2. K ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์
2544 และได้ขอเบิกเงินค่าจ้างงวดที่ 1 เป็นการขอเบิกเงินหลังจากการเบิกจ่ายเงินงวดที่ 2-4
สำหรับการเบิกเงินค่างานงวดที่ 2-4 เป็นเงินจำนวน 331,223.85 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)และ
เงินเยนจำนวน 147,281,371 เยน ในส่วนของเงินบาทนั้น การประปาฯ ได้จ่ายเงินให้ K เมื่อวันที่
17 เมษายน 2543 โดย K ได้นำสำเนา ภ.พ.20 พร้อมใบกำกับภาษีเล่มที่ 001 เลขที่ 003
จำนวนเงิน 309,555 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 21,668.85 บาท รวม 331,223.85 บาท ให้การประปาฯ
เพื่อเป็นหลักฐานการรับเงินและการประปาฯ ได้นำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปใช้เป็นภาษีซื้อของ
การประปาฯ แล้วในเดือนเมษายน 2543
3. ต่อมา JBIC ได้แจ้งการโอนเงินค่าจ้างส่วนของเงินเยนให้ K เมื่อวันที่ 18 เมษายน
2543 การประปาฯ จึงได้แจ้งให้ K ออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีให้กับการประปาฯ เพื่อเป็น
หลักฐานการรับเงิน และการประปาฯ จะได้ออกหนังสือรับรองการชำระค่าสินค้า/บริการที่ได้ชำระเงิน
จากเงินกู้ต่างประเทศ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 28) เรื่อง
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการกับกระทรวง ทบวง กรม
ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจตามโครงการเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ตามมาตรา
80/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2535 แต่ผู้แทนของบริษัทฯ ได้แจ้ง
การประปาฯ ทราบว่าไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีให้ได้ เนื่องจากได้รับแจ้งจาก
สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ 12 ว่า บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้อง เพราะในทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัทฯ ขึ้นต้นด้วยเลข 4 ดังนั้น บริษัทฯ
จึงได้ดำเนินการขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่แล้วเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2543 ตามสำเนา
ภ.พ.01
การประปาฯ หารือว่า
1. การประปาฯ ได้นำใบกำกับภาษีที่ได้รับตามข้อ 2 ไปใช้เป็นภาษีซื้อของการประปาฯ ใน
งวดเดือนเมษายน 2543 โดยไม่ทราบว่าบริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้องนั้นการประปาฯ จะ
ต้องดำเนินการอย่างไร
2. ค่างานส่วนเงินเยน JBIC ได้โอนให้ K เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2543 ตามข้อ 3 และ
K ได้ออกใบกำกับภาษีในอัตราร้อยละ 0 ให้การประปาฯ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2543 ภายหลังจากที่
แจ้งด้วยวาจาว่า ได้ดำเนินการขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่แล้วเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2543 โดยใช้
เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตาม ภ.พ.01 ตามสำเนาที่ส่งมาด้วยนั้น จะเป็นการถูกต้องหรือไม่
เนื่องจากในขณะที่บริษัทฯ ได้รับเงินค่างานนั้น บริษัทฯ ยังมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับใหม่
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าวการที่การประปานครหลวงทำสัญญาจ้างบริษัท K โดยบริษัทฯ ได้
ดำเนินการขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2542
ตามมาตรา 85 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้องแล้ว ต่อมาบริษัทฯ ได้
รับแจ้งจาก สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ว่าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้องเพราะระบุ
เลขประจำตัวผู้เสียภาษีขึ้นต้นด้วยเลข 4 ซึ่งที่ถูกต้องนั้นต้องขึ้นต้นด้วยเลข 3 และได้ดำเนินการ
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่แล้วในวันที่ 7 มิถุนายน 2543 จึงไม่มีผลลบล้างการเป็นผู้ประกอบการ
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2542 แต่อย่างใด และในเดือนเมษายน 2543 บริษัทฯ
ได้รับชำระค่างวดบริการตามสัญญาจ้างจัดหาและติดตั้งเครื่องสูบน้ำและได้ออกใบกำกับภาษีให้กับ
การประปาฯ ซึ่งเป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การประปาฯ สามารถ
นำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3
แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกรณีที่การประปาฯ จ่ายค่าบริการจากโครงการเงินกู้ JBIC โดยบริษัทฯ
ออกใบกำกับภาษีให้วันที่ 16 มิถุนายน 2543 ถือเป็นการออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียน
ตามมาตรา 85 แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นการออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา
ร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการถูกต้องแล้ว
เลขตู้: 64/30895


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020