เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/8393
วันที่: 28 สิงหาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรในการปรับปรุง โครงสร้างหนี้ที่มีการฟ้องบังคับหนี้แล้ว
ข้อกฎหมาย: พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542ฯ
ข้อหารือ: ท่านและบริษัทฯ เป็นหนี้ธนาคาร โดยธนาคารฯ ได้ฟ้องท่านกับพวก และบริษัทฯกับพวก เป็น
จำเลยต่อศาลแพ่ง ซึ่งผลการพิจารณาในที่สุดเป็นดังนี้
1. หนี้ของท่าน ศาลได้มีคำพิพากษาให้ท่าน กับพวก ร่วมกันชำระหนี้ให้แก่ธนาคารฯ
2. หนี้ของบริษัทฯ กับพวก ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล
ท่านและบริษัทฯ มีความประสงค์จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารฯ ในกรณี ดังกล่าว หาก
ได้โอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อชำระหนี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรหรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีสถาบันการเงินฟ้องร้องลูกหนี้ต่อศาลเพื่อบังคับชำระหนี้ และศาลได้มีคำพิพากษาบังคับ
ชำระหนี้แล้ว หรือได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาล หากสถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าหนี้และ
ลูกหนี้ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของ
สถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ย่อมได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตาม
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 360) พ.ศ.
2542
ดังนั้น กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงินเจ้าหนี้จากการปรับปรุง
โครงสร้างหนี้ดังกล่าว ย่อมได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน
ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ หากเป็นการโอน
อสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้อื่น ซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร
เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระอยู่กับสถาบันการเงิน และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ
เงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 28 ธันวาคม
พ.ศ. 2543
เลขตู้: 64/30889


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020