เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/11725
วันที่: 19 ธันวาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายค่าบำเหน็จตัวแทนของตัวแทนขนส่งช่วง (Sub-Agent)
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528
ข้อหารือ: สมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย (Thai Airfreight Forwarders
Asso-ciation) ได้หารือกรมสรรพากรเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายค่าบำเหน็จ
ตัวแทนของตัวแทนขนส่งช่วง (Sub-Agent) ซึ่งมีสาระสำคัญว่า กรณีสายการบินขายค่าระวางให้แก่
ตัวแทนขนส่ง 100 บาท ตัวแทนขนส่งขายค่าระวางให้แก่ตัวแทนขนส่งช่วง 102 บาท และ ตัวแทน
ขนส่งช่วงได้ขายค่าระวางให้แก่ผู้ส่งออก 105 บาท กรณีดังกล่าว จะมีภาระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
ดังนี้ ถูกต้องหรือไม่
1. ตัวแทนขนส่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากสายการบินในอัตรา ร้อยละ 1.0
ของค่าขนส่ง 105 บาท
2. สายการบินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากตัวแทนขนส่งในอัตรา ร้อยละ 3.0
ของค่าบำเหน็จตัวแทนขนส่ง 2 บาท (102 - 100)
3. ตัวแทนขนส่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากตัวแทนขนส่งช่วงในอัตราร้อยละ
3.0 ของค่าบำเหน็จตัวแทนขนส่งช่วง 3 บาท (105 - 102)
แนววินิจฉัย: กรณีสายการบินขายค่าระวางขนส่งสินค้าขาออกโดยผ่านตัวแทน (Agent หรือ Forwarder)
และตัวแทน (Agent หรือ Forwarder) ได้ขายค่าระวางผ่านตัวแทนช่วง (Sub-Agent) ตัวอย่างเช่น
สายการบินขายค่าระวางให้กับตัวแทน 100 บาท ซึ่งตัวแทนจะขายค่าระวางให้กับ ตัวแทนช่วง 102
บาท โดยตัวแทนจัดทำเอกสารแจ้งให้ตัวแทนช่วงทราบราคา เมื่อตัวแทนช่วงขายค่าระวางให้กับผู้ส่งออก
105 บาท ตัวแทนช่วงจะเป็นผู้ออก House Air Waybill ให้กับผู้ส่งออก 105 บาท และตัวแทนช่วง
ออกเอกสาร Cargo Sale Report ให้กับตัวแทนระบุว่าได้ขายค่าระวาง 105 บาท ซึ่งตัวแทนจะออก
เอกสาร Cargo Sale Report ให้กับสายการบิน ระบุว่าขายค่าระวาง 105 บาท เช่นเดียวกัน กรณี
ดังกล่าวถือว่า
1. สายการบินมีรายรับจากการรับขนของจำนวน 105 บาท ตัวแทน (Agent หรือ
Forwarder) จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากสายการบิน ในอัตราร้อยละ 1.0 ของ
ค่าระวางขนส่ง 105 บาท ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้
ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่
26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ ลงวันที่ 15
กันยายน พ.ศ. 2544
2. ผลต่างระหว่างราคาค่าระวางที่ตัวแทนเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการไว้แทนสาย การบิน
จำนวน 105 บาท และราคาค่าระวางที่ตัวแทนได้จ่ายให้กับสายการบินจำนวน 100 บาท คือ 5 บาท
(105-100) นั้น เป็นค่าบำเหน็จตัวแทนที่สายการบินจ่ายให้กับตัวแทน ดังนั้น สายการบินจึงมีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากตัวแทน ในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงิน 5 บาท ตามข้อ 3/1 ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่ง
ประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม
โดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544
3. ผลต่างระหว่างราคาค่าระวางที่ตัวแทนช่วงเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการไว้แทน ตัวแทน
จำนวน 105 บาท และราคาค่าระวางที่ตัวแทนช่วงจ่ายให้กับตัวแทนจำนวน 102 บาท คือ 3 บาท
(105-102) นั้น เป็นค่าบำเหน็จตัวแทนที่ตัวแทนได้จ่ายให้กับตัวแทนช่วง ดังนั้น ตัวแทนจึงมีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากตัวแทนช่วง ในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงิน 3 บาท ตามข้อ 3/1 ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่ง
ประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติม
โดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544
เลขตู้: 64/30876


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020