เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/11620
วันที่: 17 ธันวาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการขนส่งสินค้าทางทะเล
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528
ข้อหารือ: สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (THAI INTERNATIONAL FREIGHT
FORWARDERS ASSOCIATION ) ได้หารือกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีค่าขนส่ง
สินค้าว่า หมายถึง ค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้า ใช่หรือไม่
ซึ่งกรมสรรพากรได้ตอบข้อหารือสมาคมฯ ตามหนังสือที่ กค 0811/10115 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2544
สรุปสาระสำคัญดังนี้
1. กรณีผู้ใช้บริการ (Shipper หรือ Forwarder) จ่ายค่าระวาง ค่าธรรมเนียมและ
ประโยชน์อื่นใดตามที่ระบุในใบตราส่งสินค้า (Master Bill of Lading) ให้กับสายการเดินเรือ
โดยสายการเดินเรือออกใบเสร็จรับเงินในนามผู้ใช้บริการ หรือกรณีเจ้าของสินค้า (Shipper) จ่าย
ค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดตามที่ระบุในใบตราส่งสินค้าของสายการเดินเรือ
(Master Bill of Lading) ให้กับ Forwarder โดย Forwarder ออกใบเสร็จรับเงินในนามของ
เจ้าของสินค้า หรือกรณีผู้ใช้บริการ (Shipper หรือ Forwarder A) จ่ายค่าระวาง ค่าธรรมเนียม
และประโยชน์อื่นใดตามที่ระบุในใบตราส่งสินค้าของ Forwarder B (House Bill of Lading) ให้
กับ Forwarder B โดย Forwarder B ออกใบเสร็จรับเงินให้กับผู้ใช้บริการ ถือเป็นการจ่ายค่าขนส่ง
ซึ่งอยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
2. กรณีผู้ใช้บริการ (Consignee หรือ Forwarder) จ่ายค่าระวาง ค่าธรรมเนียมและ
ประโยชน์อื่นใดเนื่องจากการขนสินค้าขาเข้าตามที่ระบุไว้ในบิลออฟเลดิง ให้กับสายการเดินเรือไทย
โดยที่สายการเดินเรือไทยจะต้องนำรายได้ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการรับขนสินค้าขาเข้าไปรวมคำนวณ
เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินจึงมีหน้าที่
ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 อย่างไรก็ดี หากปรากฏว่า สายการเดินเรือไทยเป็น
สายการเดินเรือที่เข้าลักษณะตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 314) พ.ศ. 2540 ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
3. กรณีผู้ใช้บริการ (Consignee หรือ Forwarder) จ่ายค่าระวาง ค่าธรรมเนียมและ
ประโยชน์อื่นใดเนื่องจากการขนสินค้าขาเข้าตามที่ระบุไว้ในบิลออฟเลดิง ให้กับสายการเดินเรือ
ต่างประเทศ โดยที่ค่าขนส่งสินค้าขาเข้าไม่เป็นฐานภาษีในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 67
แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
4. กรณีผู้ใช้บริการ (Consignee หรือ Forwarder A) จ่ายค่าบริการเกี่ยวกับการขนส่ง
สินค้าขาออกและการขนส่งสินค้าขาเข้าที่มิได้ระบุไว้ในบิลออฟเลดิงให้กับสายการเดินเรือไทยหรือ
สายการเดินเรือต่างประเทศ หรือจ่ายให้กับ Forwarder B ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 สมาคมฯ แจ้งว่า ในการดำเนินธุรกิจของสมาชิกในบางกรณี
ไม่สามารถระบุค่าประโยชน์อื่นใดไว้ในบิลออฟเลดิง และในการดำเนินธุรกิจการขนส่งระหว่างประเทศ
ในระดับสากลยังไม่มีประเทศใดถือปฏิบัติ จึงขอให้กรมสรรพากรทบทวนแนวทางปฏิบัติตามหนังสือตอบ
ข้อหารือที่ กค 0811/10115 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2544
แนววินิจฉัย: 1. กรณีการขนส่งสินค้าทางทะเลขาเข้าและขาออก หากผู้ประกอบการที่เป็นสายการเดินเรือ
หรือ Freight Forwarder ไม่สามารถระบุค่าธรรมเนียมและประโยชน์อื่นใดที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้า
ไว้ในบิลออฟเลดิง ผู้ประกอบการดังกล่าวสามารถออกเอกสารโดยระบุเฉพาะค่าระวาง (Freight)
ไว้ในบิลออฟเลดิง และระบุค่าใช้จ่ายที่เป็นประโยชน์อื่นใดที่เกี่ยวกับการขนส่ง สินค้าไว้ในเอกสาร
ประเภท Freight Invoice ได้ แต่ค่าใช้จ่ายดังกล่าวต้องเป็นรายการที่เกี่ยว เนื่องกับการขนส่ง
สินค้าโดยระบบคอนเทนเนอร์เท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าโดยระบบคอนเทนเนอร์
ได้แก่
(1) ค่าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์หรือค่าแกะสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ (C on tainer
Freight Station หรือ CFS)
(2) ค่าธรรมเนียมใบสั่งปล่อยสินค้า (Delivery Order Fee หรือ D/O)
(3) ค่าธรรมเนียมใบตราส่งสำหรับการขนส่งสินค้าขาออก (B/L Fee)
(4) ค่าธรรมเนียมเปลี่ยนสถานะตู้คอนเทนเนอร์ (Status fee)
(5) ค่าภาระท่าเรือ คือ ค่าใช้จ่ายในการนำตู้คอนเทนเนอร์ลงจากเรือ หรือค่าย้ายตู้
คอนเทนเนอร์หน้าท่าเรือไปยังลาน (Terminal Handling Charge หรือ THC)
(6) ค่าลากตู้ไปเปิดที่โรงงานกรณีการขนส่งสินค้าขาเข้า หรือค่าลากตู้ไปบรรจุสินค้าที่
โรงงานและลากตู้กลับมาที่ท่าเรือกรณีการขนส่งสินค้าขาออก (Container Yard หรือ CY)
ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินตามบิลออฟเลดิงและ Freight Invoice ดังกล่าว ถือว่าเป็น
การจ่ายค่าขนส่ง จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามข้อ 12/4 ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่ง
ประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม
โดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544
2. กรณีผู้ประกอบการที่เป็นสายการเดินเรือ หรือ Freight Forwarder ระบุค่าบริการ
(Handling Charge หรือ H/D) ไว้ในเอกสาร Freight Invoice ด้วย นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่
เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าโดยระบบคอนเทนเนอร์ โดยแยกรายการอย่างชัดเจนเฉพาะค่าบริการ
(Handling Charge) ดังกล่าวถือเป็นค่าตอบแทนที่ผู้ใช้บริการจ่ายให้กับสายการเดินเรือ หรือ
Freight Forwarder ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของ
ค่าบริการ (Handling Charge) นั้น ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง
สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ
ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2544 สำหรับรายการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าโดยระบบคอนเทนเนอร์
ตาม 1. ที่ระบุไว้ใน Freight Invoice ถือเป็นค่าขนส่ง อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ใน
อัตราร้อยละ 1.0
เลขตู้: 64/30746

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020