เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811/6763
วันที่: 9 กรกฎาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มรตรา 69 ทวิ, มาตรา 70, มาตรา 50(1), มาตรา 80/1(4)
ข้อหารือ: คณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ แจ้งว่า คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแผนการใช้เงิน
จากธนาคารโลกเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิรูประบบบริหารภาครัฐ โดยให้กระทรวงการคลังจัดสรรเงินกู้
เพื่อปรับโครงสร้างภาคราชการ หรือจากเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่จะมีในอนาคต
ในการดำเนินการส่วนใหญ่ต้องมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและ
ชาวต่างประเทศ ซึ่งรายได้ของผู้รับจ้างจะต้องมีการหักภาษีเงินได้ และการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณี
ต่าง ๆ เพื่อจะได้เป็นแนวทางปฏิบัติตรงกัน จึงหารือว่า
1. หลักการหักภาษีเงินได้ของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ทั้งไทยและต่างประเทศแตกต่างกัน
หรือไม่ และมีหลักเกณฑ์การหักภาษีเงินได้อย่างไร
2. กรณีชาวต่างประเทศที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา การหักภาษีเงินได้กรณีนิติบุคคล 1%
และบุคคลธรรมดา 15% นั้น มีการกำหนดระยะเวลาการอยู่ในประเทศไทยเป็นเงื่อนไขในการหักภาษี
หรือไม่อย่างไร
3. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม นิติบุคคลที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย และที่
ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยจะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้เหลือ 0% เท่ากันหรือไม่
อย่างไร หากกรณีที่ไม่จดทะเบียนจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราใด
แนววินิจฉัย: 1. การหักภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีส่วนราชการเป็นผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับที่เป็น
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้ง
ขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและประกอบกิจการในประเทศไทย ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย
ในอัตราร้อยละ 1 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กรณีจ่ายให้แก่ผู้รับที่เป็น
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย
และเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ให้หักภาษีจากเงินได้
นั้นในอัตราร้อยละ 15 เว้นแต่เงินได้ตามมาตรา 40(4) (ข) ให้หักภาษีในอัตราร้อยละ 10 ทั้งนี้ ตาม
มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
2. การหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีส่วนราชการเป็นผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น
บุคคลธรรมดา การคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ ณ ที่จ่ายเป็นไปตามมาตรา 50 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ตามประเภทเงินได้ที่บุคคลธรรมดานั้น ๆ ได้รับ เช่น กรณีบุคคลธรรมดามีเงินได้
เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
จะเป็นไปตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบุคคลธรรมดามีเงินได้จากการรับทำงานให้ตาม
มาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจะเป็นไปตามมาตรา 50(1)
แห่งประมวลรัษฎากร กรณีผู้รับเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย แต่กรณีผู้รับมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ ตามมาตรา 50(1)
วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดระยะเวลาการอยู่ในประเทศไทย จึงอาจเป็นเงื่อนไขในการหัก
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในบางกรณี
กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเป็นผู้ซึ่งอยู่ในประเทศที่มีความตกลงหรือมีอนุสัญญา ว่าด้วย
การเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
จะต้องพิจารณาถึงอนุสัญญาฯ ระหว่างประเทศไทยกับประเทศนั้น ๆ ด้วย
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มใน อัตรา
ร้อยละ 0 ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขาย สินค้าหรือ
ให้บริการกับส่วนราชการตามโครงการเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศจะต้องเป็นไปตาม
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 28)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการกับกระทรวง ทบวง กรม
ราชการส่วนท้องถิ่นหรือรัฐวิสาหกิจ ตามโครงการเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศตามมาตรา
80/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2535 กรณีผู้ประกอบการมิได้เป็น
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการนั้น ๆ ไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา
ร้อยละ 0
เลขตู้: 64/30670


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020