เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/6460
วันที่: 26 มิถุนายน 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม การออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายทองรูปพรรณ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 86/4(8), มาตรา 86/6(7)
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้ส่งเอกสารใบกำกับภาษีสำหรับการขายทองรูปพรรณให้กรมสรรพากรพิจารณาว่า
กรณีไม่สามารถระบุคำว่า “ผลต่าง” ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่
107) เรื่อง กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 11
สิงหาคม พ.ศ. 2543 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 108) เรื่อง
กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.
2543 แต่ได้ระบุคำว่า “รวมเงินคิดภาษี” ไว้ในใบกำกับภาษี จะถือว่าใบกำกับภาษีมีรายการถูกต้อง
ครบถ้วนตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวหรือไม่
แนววินิจฉัย: ใบกำกับภาษีสำหรับการขายทองรูปพรรณที่บริษัทฯ ส่งไปประกอบการพิจารณา มีรายการ
จำนวนราคาทองรูปพรรณที่รับซื้อคืนรวมเข้ากับผลต่างระหว่างราคาทองรูปพรรณรวมค่ากำเหน็จหักด้วย
ราคารับซื้อคืนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งรายการ ซึ่งผู้ประกอบการใช้ข้อความว่า “รวมเงินคิดภาษี” มิได้ใช้ข้อความ
ว่าผลต่าง แต่ในใบกำกับภาษีดังกล่าวมีช่องผลต่างอยู่ด้วย ซึ่งเป็นการบันทึกรายการ “รวมเงินคิดภาษี”
เข้าไปก็เพื่อให้ยอดเงินรวมตรงกับเงินที่เก็บได้จริงจากการขายทองรูปพรรณ กรณีดังกล่าว ถือเป็น
รายการอื่นเพิ่มเติมจากรายการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสามารถกระทำได้ ถือว่าเป็นการจัดทำใบกำกับภาษี
โดยมีรายการตามมาตรา 86/4(8) และมาตรา 86/6(7) แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว
เลขตู้: 64/30639

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020