เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/6423
วันที่: 26 มิถุนายน 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการส่งออกสินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 80/1, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.97/2543ฯ
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาคหารือกรมสรรพากรเกี่ยวกับการตรวจปฏิบัติการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณี
การส่งออกสินค้า รายบริษัทฯ จำกัด ซึ่งมีข้อเท็จจริงดังนี้
1. บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2536 ประกอบกิจการส่งออก
เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง และกระเบื้องปูพื้น
2. สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ได้ตรวจปฏิบัติการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มปรากฏว่า บริษัทฯ ซื้อ
สินค้าจากบริษัทผู้ผลิต โดยมีข้อตกลงให้บริษัทผู้ผลิตเป็นผู้ออกค่าขนถ่ายสินค้า และดำเนินพิธีการศุลกากร
ในนามของบริษัทผู้ผลิต กล่าวคือ บริษัทผู้ผลิตมีชื่อในใบขนสินค้าขาออก แต่บริษัทฯจะเป็นผู้ออก
ใบกำกับสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ บริษัทฯ ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการส่งออกสินค้าในอัตรา
ร้อยละ 0
3. บริษัทผู้ผลิตไม่ได้ออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ แต่ออกเฉพาะ
ใบเสร็จรับเงินหรือเอกสารอินวอยซ์
4. สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่มีความเห็นว่า บริษัทฯไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา
ร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มีหลักฐานแสดงว่าถูกบริษัท
ผู้ผลิตออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแนวทางปฏิบัติตามข้อ 10 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ป.33/2536 เรื่อง การส่งออกสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา
ร้อยละ 0 ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2536 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.70/2541ฯ
ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2541
5. สำนักงานสรรพากรภาคเห็นด้วยกับความเห็นของสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่
แนววินิจฉัย: 1. กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่เป็นการรวบรวมการตอบข้อหารือกฎหมาย
ภาษีอากรเกี่ยวกับการส่งออกสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา
ร้อยละ 0 เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้ประกอบการ
จดทะเบียนในแต่ละช่วงเวลา ดังนี้
(1) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.33/2536 ฯ ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นการ
รวบรวมแนววินิจฉัยและกำหนดแนวทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2543
(2) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.70/2541 ฯ ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็น
การแก้ไขเพิ่มเติมแนววินิจฉัยและแนวทางปฏิบัติสำหรับกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับคำสั่งซื้อจาก
ผู้ซื้อในต่างประเทศ และซื้อสินค้าที่ส่งออกจากผู้ผลิตในประเทศ โดยให้ผู้ผลิตดำเนินพิธีการศุลกากรยื่น
ใบขนสินค้าขาออกในนามของผู้ผลิตเอง กรณีดังกล่าว ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะได้รับสิทธิเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 เมื่อสามารถแสดงหลักฐานตามที่กรมสรรพากรกำหนด โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งต้องสามารถแสดงหลักฐานใบกำกับภาษีที่ถูกผู้ผลิตเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
(3) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.97/2543 ฯ ลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2543 ซึ่งเป็น
การปรับปรุงแนววินิจฉัยข้อกฎหมายภาษีอากรเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าให้ชัดเจน และสอดคล้องกับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4892/2541
2. กรณีบริษัทฯ ซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ผลิตต่าง ๆ เพื่อส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไป
ต่างประเทศตามมาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีข้อตกลงให้บริษัทผู้ผลิตดำเนินพิธีการ
ศุลกากรในนามของบริษัทผู้ผลิตเอง ถือว่าบริษัทฯ เป็นผู้ส่งออกตามมาตรา 77/1(13) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ซึ่งได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4892/2541 และข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ป.97/2543 ฯ ลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2543
3. เนื่องจากคำสั่งกรมสรรพากรตาม 1. เป็นการรวบรวมการตอบข้อหารือกฎหมาย
ภาษีอากรเกี่ยวกับการส่งออกสินค้า ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ถือปฏิบัติตาม
คำสั่งกรมสรรพากรในแต่ละช่วงเวลา และเจ้าพนักงานประเมินก็จะมีปัญหาเกี่ยวกับการตรวจปฏิบัติการ
หรือการตรวจสอบภาษีด้วย กรมสรรพากรจึงได้ซ้อมความเข้าใจแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจและ
แนะนำผู้ประกอบการจดทะเบียน กรณีการส่งออกสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ทั้งนี้ ตามหนังสือที่ กค 0814/ว.32039 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2543
4. ดังนั้น กรณีตามข้อหารือของ สพท. หากปรากฏข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
(1) บริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อในต่างประเทศ และซื้อสินค้าที่ส่งออกจากบริษัทผู้ผลิตเพื่อ
ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศตามมาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร โดย
ให้บริษัทผู้ผลิตเป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรยื่นใบขนสินค้าขาออกในนามของบริษัทผู้ผลิต ซึ่งการกระทำ
ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 9 เมษายน 2541 ถือว่าบริษัทฯเป็นผู้ส่งออกตาม
มาตรา 77/1(13) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตาม
มาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4892/2541 และข้อ 1.1(2)
ของหนังสือที่ กค 0814/ว.32039
(2) บริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อในต่างประเทศ และซื้อสินค้าที่ส่งออกจากบริษัทผู้ผลิตเพื่อ
ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศตามมาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร โดย
ให้บริษัทผู้ผลิตเป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรยื่นใบขนสินค้าขาออกในนามของบริษัทผู้ผลิต ซึ่งการกระทำ
ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2541 ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ถือว่าบริษัทฯ เป็นผู้ส่งออก
ตามมาตรา 77/1(13) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4892/2541 แต่บริษัทฯ
จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯจะ
ต้องมีหลักฐานตามข้อ 10(1) ถึง (5) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.33/2536 ฯ ลงวันที่ 24
มิถุนายน พ.ศ.2536 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.70/2541 ฯ ลงวันที่ 10 เมษายน
พ.ศ. 2541 กรณีดังกล่าว กรมสรรพากรกำหนดแนวทางการตรวจและแนะนำผู้ประกอบการจดทะเบียน
ไว้ตามข้อ 1.2(2) ของหนังสือที่ กค 0814/ว.32039
(3) บริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อในต่างประเทศ และซื้อสินค้าที่ส่งออกจากบริษัทผู้ผลิตเพื่อ
ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศ ตามมาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร
โดยให้บริษัทผู้ผลิตเป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรยื่นใบขนสินค้าขาออกในนามของบริษัทผู้ผลิต ซึ่งการกระทำ
ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2541 ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 และบริษัทฯ ไม่สามารถ
แสดงหลักฐานตามข้อ 10(1) ถึง (5) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.33/2536 ฯ ลงวันที่ 24
มิถุนายน พ.ศ. 2536 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.70/2541 ฯ ลงวันที่ 10
เมษายน พ.ศ. 2541 หากบริษัทฯ ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 จากกำไรหรือผลต่าง
ระหว่างจำนวนเงินที่ผู้ซื้อในต่างประเทศจ่ายชำระกับจำนวนเงินที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนจ่ายให้แก่
บริษัทผู้ผลิต ในฐานะเป็นผู้ให้บริการหรือเป็นตัวแทนในการติดต่อลูกค้าให้บริษัทผู้ผลิต ถือว่าบริษัทฯปฏิบัติ
ถูกต้องแล้ว กรณีดังกล่าว กรมสรรพากรกำหนดแนวทางการตรวจและแนะนำผู้ประกอบการจดทะเบียนไว้
ตามข้อ 1.2(3) ของหนังสือที่ กค 0814/ว.32039
(4) บริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อในต่างประเทศ และซื้อสินค้าที่ส่งออกจากบริษัทผู้ผลิตเพื่อ
ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศ ตามมาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร
โดยให้บริษัทผู้ผลิตเป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรยื่นใบขนสินค้าขาออกในนามของบริษัทผู้ผลิต ซึ่งการกระทำ
ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไป ถือว่าบริษัทฯเป็นผู้ส่งออกตามมาตรา
77/1(13) แห่งประมวลรัษฎากร ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1
แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4892/2541 ข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ป.97/2543 ฯ และข้อ 2 ของหนังสือที่ กค 0814/ว.32039
เลขตู้: 64/30631

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020