เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/5590
วันที่: 1 มิถุนายน 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 47(1)(ซ), ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) (ฉบับที่ 88) พ.ศ.2543
ข้อหารือ: นาง พ. ได้หารือกรณีการหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อเช่าซื้อบ้านอยู่อาศัยจากธนาคาร
ไทยพาณิชย์ ต่อมาปี 2539 ได้เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้เป็นธนาคารออมสิน ในการยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ประจำปีภาษี 2541 สรรพากรอำเภอแนะนำว่ากรณีดังกล่าว
เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ซึ่งจะไม่มีสิทธิในการหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสำหรับการยื่นแบบครั้งต่อไป
แนววินิจฉัย: 1. การแปลงหนี้ใหม่ที่ผู้มีเงินได้จะนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาหักลดหย่อนได้ ต้องเป็นกรณีผู้ให้กู้
เดิมและผู้ให้กู้รายใหม่ได้ตกลงกันทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ซึ่งกระทำโดยวิธีการ
โอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 349 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เฉพาะที่กระทำเป็นครั้งแรก
โดยไม่มีการเพิ่มวงเงินกู้ยืมเพื่อไถ่ถอนหนี้เดิม ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่
ตามข้อ 1(9) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 24) เรื่อง กำหนด
หลักเกณฑ์ และวิธีการ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2529
2. อย่างไรก็ตาม ในปีภาษี 2543 กรมสรรพากรได้กำหนดให้นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อชำระ
หนี้เงินกู้ยืมเพื่อเช่าซื้อบ้านอยู่อาศัย เฉพาะดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้ส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่
ค้างชำระตามข้อเท็จจริงมาหักลดหย่อนและยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่
ไม่เกิน 50,000 บาทได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้
(ฉบับที่ 86) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามมาตรา
47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และข้อ 2 ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 88) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อ
การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ
หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามข้อ 2(53) แห่ง
กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 เป็นต้นไป
เลขตู้: 64/30553

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020