เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.5406
วันที่: 30 พฤษภาคม 2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการรับจ้างทำของให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 86, มาตรา 65
ข้อหารือ: บริษัท ดี จำกัด ประกอบกิจการติดตั้ง ผลิตเบาะรถยนต์และเบาะยานพาหนะทุกประเภท
ปัจจุบันบริษัทฯ ได้รับสัญญาว่าจ้างจากบริษัทในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ให้ทำชิ้นส่วนต่าง ๆ
เพื่อนำไปประกอบภายใน รถไฟฟ้าโดยวัตถุดิบที่ใช้ผู้ว่าจ้างจะส่งมาให้จากต่างประเทศ ทางบริษัทฯ
ไม่ต้องจ่ายค่าวัตถุดิบ เมื่อทางบริษัทฯ ผลิตสินค้าตามสัญญาว่าจ้าง เช่น เบาะรถไฟฟ้า ฐานรองเก้าอี้
รถไฟฟ้า ราวจับในรถไฟฟ้าเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องส่งสินค้าที่ผลิตได้กลับไปทั้งหมด และบริษัทฯ จึงได้
หารือแนวทางปฏิบัติ เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร เรื่องการ
ให้บริการรับจ้างทำของให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ โดยผู้ให้บริการจะต้องทำกิจการอันเป็น
สาระสำคัญของการรับจ้างทำของในประเทศไทย และได้ส่งผลของการให้บริการรับจ้างทำของนั้นไปใช้
ในต่างประเทศทั้งหมด ดังนี้ 1. วันที่ส่งออกสินค้า บริษัทฯ ต้องออกใบส่งสินค้าอย่างไร 2. บริษัทฯ
ต้องออกใบกำกับภาษีพร้อมกับใบส่งสินค้าด้วยหรือไม่ในวันส่งออกสินค้า 3. ความรับผิดในเรื่องการรับรู้
รายได้ของบริษัทฯ เกิดขึ้นเมื่อใด ณ วันที่ส่งออก หรือวันที่บริษัทฯ ได้รับเงินโอนมาเข้าบัญชีธนาคาร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีตาม 1. ในการส่งออกสินค้า บริษัทฯ จะต้องยื่นใบขนสินค้าตามหลักเกณฑ์และพิธีการ
ทางศุลกากร ซึ่งบริษัทฯ จะต้องออกใบส่งสินค้าอย่างไร ก็เป็นไปตามหลักบัญชีทั่วไป
2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ จะต้องออกใบกำกับภาษีทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เกิดขึ้น ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความรับผิดในการส่งออกเกิดขึ้น เมื่อมีการ
ชำระอากรขาออก วางหลักประกันอากรขาออกหรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก ทั้งนี้ เป็นไปตาม
มาตรา 78(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร โดยใบกำกับภาษีมีรายการเช่นเดียวกับใบกำกับสินค้าซึ่ง
ผู้ส่งออกได้ออกเป็นปกติตามประเพณีทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ตามนัยข้อ 1 แห่ง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 21)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534
3. กรณีตาม 3. การรับรู้รายได้ของบริษัทฯ นั้น เกิดขึ้นเมื่อออกใบขนสินค้าขาออก ตาม
เกณฑ์สิทธิ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร แม้ว่าจะยังมิได้มีการรับชำระราคาดังกล่าว
เลขตู้: 64/30537

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020