เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/5096
วันที่: 23 พฤษภาคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าใช้จ่ายผลขาดทุนจากเงินลงทุนและเงินให้กู้ยืม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (13)
ข้อหารือ: 1. บริษัท ท. จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2518
ประกอบกิจการเป็นนายหน้าตัวแทนขนส่งทางเรือทะเล ให้เช่าทรัพย์สิน ส่งออก การให้บริการต่าง ๆ
บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2534 มีกำไรสุทธิ
11,172,720.11 บาท แต่ได้นำผลขาดทุนจากเงินลงทุนและเงินให้กู้ยืมในบริษัท ค. จำกัด มาเป็น
ค่าใช้จ่ายจำนวน 21,989,598.01 บาท ทำให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 10,816,877.90 บาท
รอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2535 มีกำไรสุทธิ 3,581,042.92 บาท และรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.
2536 มีกำไรสุทธิ 1,022,700.34 บาท แต่บริษัทฯ ได้นำผลขาดทุนสุทธิ ยกมาจากปี พ.ศ. 2534 มา
ถือเป็นรายจ่ายทำให้ไม่มีกำไรสุทธิในการคำนวณเพื่อเสียภาษี
2. บริษัท ค. จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2523 ทุน
จดทะเบียน 20,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท โดยบริษัท ท. จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน
18,396 หุ้น ชำระค่าหุ้นแล้วร้อยละ 25 เป็นเงินลงทุนที่เรียกชำระแล้ว 4,599,000 บาท และบริษัท
ท. จำกัด ยังให้บริษัท ค. จำกัด กู้ยืมเงินจำนวน 15,982,245.40 บาท
3. บริษัท ท. จำกัด ได้รับคำแนะนำจากสำนักงานทนายความ เกี่ยวกับการนำเงินที่ลงทุน
และเงินให้กู้ยืมแก่บริษัท ค. จำกัด ดังกล่าวมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท ท. จำกัด ว่าเงิน ลงทุน
จำนวน 4,599,000 บาท บริษัท ท. จำกัด จะถือเป็นเจ้าหนี้ไม่ได้ ส่วนเงินลงทุนยังไม่ชำระอีกร้อยละ
75 บริษัท ท. จำกัด จะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัท ค. จำกัด หากบริษัท ค. จำกัด ยังไม่เลิกบริษัทฯ
จำนวนเงินค่าหุ้นไม่อาจนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัท ท. จำกัด ได้
ส่วนเงินกู้ยืมจำนวน 15,982,245.40 บาท หากจะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ
กำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร จะต้องเป็นหนี้สูญที่เข้าเงื่อนไขตามกฎกระทรวงที่กำหนดว่าต้องเป็นหนี้
จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการ แต่บริษัท ท. จำกัด มิได้ประกอบกิจการให้
กู้ยืมแก่บุคคลอื่นเป็นปกติธุระ ถือได้ว่าหนี้เงินกู้ยืมมิใช่หนี้สินจากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการ
ประกอบกิจการ ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
4. ในปี พ.ศ. 2532 บริษัท ท. จำกัด ได้ลงทุนเพิ่มใน บริษัท ค. จำกัด เป็นจำนวน
19,994 หุ้น และชำระมูลค่าหุ้นที่ค้างอีกร้อยละ 75 ทำให้หนี้เงินกู้ยืม จำนวน 15,982,245.40 บาท
ไม่มีอีกต่อไป เนื่องจากได้มีการแปลงหนี้เงินกู้ยืมเป็นทุน ตามงบดุลของบริษัทฯ ปี พ.ศ. 2532
ในปี พ.ศ. 2533 บริษัท ค. จำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทฯ โดยมีนาย ก. กรรมการของ
บริษัทฯ เป็นผู้ชำระบัญชี แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ต่อมา นาย ก. ในฐานะผู้ชำระบัญชี
ของบริษัทฯ ได้ร้องต่อศาลขอให้บริษัทฯ ล้มละลายและศาลได้มีคำพิพากษาให้บริษัท ค. จำกัด ล้มละลาย
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2534
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัท ท. จำกัด ลงทุนถือหุ้นของบริษัท ค. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือรวมเป็นเงิน
21,989,598.01 บาท เมื่อบริษัท ค. จำกัด เลิกกิจการเนื่องจากประสบการขาดทุนจากการดำเนิน
กิจการต่อเนื่อง หากบริษัท ท. จำกัด ไม่ได้รับการคืนเงินตามมูลค่าหุ้นที่ลงทุนไปและบริษัทฯ มีหลักฐานที่
เชื่อถือได้ เพื่อแสดงว่าบริษัทฯ ได้รับผลเสียหายเนื่องจากการลงทุนของบริษัทฯ จริง ผลเสียหาย
ดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65
ตรี (12) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ทั้งนี้ บริษัทฯ ต้องนำผลเสียหายนั้นมาลงเป็นรายจ่ายใน
รอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัท ค. จำกัด ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แต่หากภายหลังบริษัทฯ ได้รับ
ชำระเงินค่าหุ้นคืน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ให้นำเงินที่ได้รับชำระนั้นมาลง
เป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นด้วย
เลขตู้: 64/30505

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020