เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./3201
วันที่: 2 เมษายน2544
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง และระบบสายส่งเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10), มาตรา 79
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบกิจการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน มีความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าสูงกว่าที่
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะจัดหาให้ได้ บริษัทฯ และ กฟผ. จึงได้มีข้อตกลงร่วมกัน โดยบริษัทฯ
จะจัดหาที่ดินเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ และโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ กฟผ. และ กฟภ. เพื่อก่อสร้างสถานี
ไฟฟ้าแรงสูง 230 เควี จ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่บริษัทฯ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงดังกล่าวเป็นสมบัติของ
กฟผ. ที่ กฟผ. สงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใดก็ได้ในอนาคต ค่าก่อสร้างทั้งหมด
รวมเป็นเงิน 440 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. จำนวน 10 ล้านบาท ใช้เป็นค่าก่อสร้างสายส่งชั่วคราว 115 เควี ในระหว่าง
ดำเนินการก่อสร้างสายส่ง 230 เควี บริษัทฯ จะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนนี้โดยที่ กฟผ. ไม่ต้อง
จ่ายคืนบริษัทฯ เนื่องจากการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้บริษัทฯ มีผลกระทบกับแผนงานเดิม
ของ กฟผ.
2. จำนวน 430 ล้านบาท ใช้เป็นค่าก่อสร้างสายส่ง 230 เควี และสถานีไฟฟ้าแรงสูง เงิน
จำนวนดังกล่าวแบ่งจ่ายเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 จำนวน 143.33 ล้านบาท เป็นเงินค่าก่อสร้างจำนวนหนึ่งในสามของ
ค่าก่อสร้างทั้งหมด บริษัทฯ จะช่วยออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโดยที่ กฟผ. ไม่ต้องจ่ายคืนบริษัทฯ
ส่วนที่ 2 จำนวน 286.67 ล้านบาท บริษัทฯ จะออกเงินลงทุนล่วงหน้าให้ก่อนโดย
ไม่คิดดอกเบี้ย และ กฟผ. จะต้องผ่อนชำระคืนให้บริษัทฯ โดยตรงภายใน 7 วันถัดจากวันที่ กฟผ. ได้
รับเงินค่าไฟฟ้ารายเดือนจาก กฟภ. ในวงเงินเดือนละไม่เกิน 30% ของค่ากระแสไฟฟ้าที่บริษัทฯ ใช้ใน
แต่ละเดือน แต่ไม่เกินเดือนละ 11.945 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิต
ไฟฟ้าใช้เองบางส่วน ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงจากเดิมที่เคยขอ กฟผ.จาก 205 เมกะวัตต์
เป็นไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์
3. ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง กฟผ. เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์
เครื่องจักร รวมทั้งค่าแรงงาน ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้น กฟผ. ได้นำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มของ กฟผ.แล้ว และ กฟผ. ได้ออกใบกำกับภาษีไปเรียกเก็บค่าบริการจากบริษัทฯ เป็น
เงิน 153.33 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 กฟผ. ได้หารือ ดังนี้
(1) การรับเงินค่าก่อสร้างสายส่งชั่วคราวจำนวน 10 ล้านบาทและเงินช่วย
ค่าก่อสร้างสายส่งและสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่บริษัทฯ รับภาระจำนวน 143.33 ล้านบาท เป็นการให้บริการ
ที่ กฟผ. ต้องเรียกเก็บและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
(2) บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ ได้
หรือไม่
(3) การจ่ายคืนเงินลงทุนล่วงหน้าจำนวน 286.67 ล้านบาท อยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. การรับเงินค่าก่อสร้างสายส่งชั่วคราว และเงินค่าก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงพร้อมสายส่ง
รวมเป็นเงิน 153.33 ล้านบาท เข้าลักษณะเป็นการให้ "บริการ" ตามมาตรา 77/1(10) แห่ง
ประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร
บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดจากค่าบริการไปหักในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/3 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
2. เงินที่บริษัทฯ ได้รับคืนจาก กฟผ. ไม่เข้าลักษณะรายรับจากการขายสินค้าหรือการ
ให้บริการ ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2
แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 64/30353

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020