เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม.04)/02
วันที่: 4 มกราคม 2544
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการได้ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อค่าเช่ารถยนต์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1), มาตรา 82/5(6)
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ เช่ารถยนต์มาเพื่อให้พนักงานบริษัทฯ ใช้เป็นรถยนต์ประจำตำแหน่งขณะเดียวกันก็
ใช้เพื่อกิจการของบริษัทฯ ด้วย ประโยชน์จากการได้ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งนี้ จะถือเป็นเงินได้ที่
พนักงานผู้ใช้รถยนต์ดังกล่าวจะต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
2. ภาษีซื้อของค่าเช่ารถยนต์ไม่สามารถเครดิตกับภาษีขายได้แต่สามารถบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย
ของบริษัทฯ และไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีพนักงานได้ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่ง หากเป็นการใช้ในการปฏิบัติงานเฉพาะเพื่อ
กิจการของบริษัทฯ โดยพนักงานมิได้รับประโยชน์เป็นการส่วนตัวจากการได้ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่ง
การได้ใช้รถยนต์ดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจาก
การจ้างแรงงานอันจะถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานจึง
ไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด
2. ภาษีซื้อที่เกิดจากการเช่ารถยนต์ กรณีรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน
ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ไม่สามารถนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร
ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่
29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 71)ฯ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 แต่ภาษีซื้อดังกล่าวไม่ต้องห้ามนำมาถือเป็นรายจ่ายใน
การคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ถือเป็นรายจ่ายใน
การคำนวณกำไรสุทธิได้ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย
ภาษีซื้อที่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2534
เลขตู้: 64/30248


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020